กระทรวงต่างประเทศยืนยันไม่ได้ขวาง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” รับบริจาควัคซีนโมเดอร์นา 3 ล้านโดสจากโปแลนด์ – แจงแค่ไม่มีบุคลากรตรวจสอบคุณภาพวัคซีน แนะให้ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
วันนี้ (26 ต.ค.) นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง การรับบริจาควัคซีนโมเดอร์นาจากโปแลนด์มายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศได้รับหนังสือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่ามหาวิทยาลัยฯ ได้รับแจ้งจากองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องวัคซีนโควิด-19 ของโปแลนด์ หรือ RARS มีความประสงค์บริจาควัคซีนโมเดอร์นา 3,000,000 โดสให้มหาวิทยาลัยฯ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศนำเข้า และมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ อำนวยความสะดวกและตรวจสอบวัคซีน ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของโปแลนด์ในการจัดส่งวัคซีนดังกล่าวมายังประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ RARS หารือร่วมกันมาตั้งแต่ต้น โดยกระทรวงการต่างประเทศไม่เคยขัดขวางใดๆ
- ต่างประเทศ โยนธรรมศาสตร์คุยสาธารณสุข ปมรับบริจาคโมเดอร์นาจากโปแลนด์
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ไม่เคยได้รับการยืนยันเรื่องดังกล่าวในระดับรัฐบาลผ่านกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์หรือสถานเอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ว่า หน่วยงานต่างๆ ของโปแลนด์ยังหารือถึงการบริจาคอยู่ และการบริจาคในระดับรัฐบาลยังไม่ได้รับการยืนยัน และในขณะที่ RARS ได้แจ้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วว่า ประสงค์จะบริจาควัคซีนให้กระทรวงการต่างประเทศ จึงเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรหารือกับ RARS โดยตรง โดยที่กระทรวงฯ ไม่ได้คัดค้านใดๆ และไม่มีอำนาจคัดค้านได้
แต่กรณีที่มหาวิทยาลัยฯ ขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ในการอำนวยความสะดวก และตรวจสอบวัคซีน ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของโปแลนด์ในการจัดส่งวัคซีนนั้น กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางในการตรวจสอบวัคซีน ตามที่มหาวิทยาลัยฯ ร้องขอได้ เพราะต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง และมีความสำคัญต่อการรักษาคุณภาพของวัคซีน และยังมีกฎหมายควบคุมหลายฉบับ
เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของประชาชน กระทรวงการต่างประเทศจึงแนะนำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หารือกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่จะให้คำแนะนำและสนับสนุนการดำเนินการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดีกว่ากระทรวงการต่างประเทศ เพราะยังต้องคำนึงถึงการชดเชยความเสียหายในกรณีที่ผู้รับการฉีดวัคซีนเกิดผลข้างเคียงด้วย
นอกจากนั้น กรณีที่ประเทศใดจะบริจาควัคซีนให้กับประเทศใด บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องรับทราบและให้ความเห็นชอบการบริจาค เพราะสัญญาการบริจาคทุกฉบับยังมีรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย อาทิ การห้ามนำวัคซีนที่ได้รับบริจาคมาจำหน่ายเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งการดำเนินการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นการรับบริจาควัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) เป็นครั้งแรก
ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจา แต่กระทรวงการต่างประเทศแนะนำมหาวิทยาลัยฯ ด้วยความสุจริตใจและอย่างมืออาชีพว่า มหาวิทยาลัยฯ น่าจะพิจารณากระบวนการรับบริจาคอย่างถี่ถ้วนเพื่อไม่ให้ถูกร้องเรียนจากฝ่ายใดในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถูกมองว่ามีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ได้รับบริจาค