บัตรทอง ย้ำ คนพิการเข้ารักษา รพ.รัฐทุกแห่ง ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว พร้อมร่วม อบจ. 58 แห่ง จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด
วันที่ 3 ธ.ค.2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 3 ธ.ค.ของทุกปี เป็น “วันคนพิการสากล” ปีนี้กำหนดประเด็นรณรงค์คือ คนพิการร่วมนำการเปลี่ยนแปลง เพื่อการเข้าถึงโดยสะดวก ถ้วนหน้า สู่โลกใหม่หลังโควิด 19 อย่างยั่งยืน เพื่อให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพคนพิการ พร้อมสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิ
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ “บัตรทอง” ได้พัฒนาการบริการและสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลคนพิการให้เข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง นอกจากเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว ยังให้ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้แก่ กายภาพบำบัด การประเมินและแก้ไขการพูด การฟื้นฟูการได้ยิน การฟื้นฟูการเห็น และการกระตุ้นพัฒนาการ เป็นต้น และได้รับกายอุปกรณ์ เช่น เครื่องช่วยฟัง ไม้เท้าขาว อวัยวะเทียมอย่างแขนเทียม ขาเทียม เป็นต้น
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการในการใช้สิทธิบัตรทอง ยังกำหนดให้ผู้พิการสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่ รพ.รัฐทุกแห่ง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ซึ่งที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งตามมาตรา 44 ให้คนพิการในระบบประกันสังคมมีสิทธิรับบริการสาธารณสุขในระบบบัตรทอง โดยผู้ประกันตนคนพิการจะได้รับสิทธิประโยชน์บริการเช่นเดียวกับคนพิการที่อยู่ในระบบบัตรทองด้วย
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพฯ ยังมี “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด” เพื่อสนับสนุนระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นการร่วมสมทบงบประมาณระหว่าง สปสช. และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีจัดตั้งแล้ว 58 จังหวัด ช่วยให้คนพิการได้รับการดูแลได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ย. อบจ.สกลนครเป็นจังหวัดล่าสุดที่เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ดังนั้น ในโอกาสวันคนพิการสากล จึงขอเชิญชวน อบจ.ที่สนใจมาร่วมจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ กับ สปสช.เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในจังหวัดร่วมกัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทั้งนี้ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัดที่ สปสช. และ อบจ.ร่วมจัดตั้ง 58 แห่ง มีดังนี้ เชียงใหม่, เชียงราย, น่าน, พะเยา, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, แม่ฮ่องสอน, พิษณุโลก, สุโขทัย, ตาก, อุตรดิตถ์, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, ชัยนาท, พิจิตร, อุทัยธานี, กำแพงเพชร, สระบุรี, อยุธยา, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นนทบุรี, ปทุมธานี, นครนายก, ราชบุรี,
ชลบุรี, จันทบุรี, ตราด, ระยอง, สมุทรปราการ, สระแก้ว, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, บึงกาฬ, หนองบัวลำภู, สกลนคร, นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์, อุบลราชธานี, ยโสธร, อำนาจเจริญ, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, พังงา, ภูเก็ต, สงขลา, พัทลุง, สตูล, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และตรัง