วันที่ 13 พ.ค.เอเอฟพีรายงานการเตรียมการรับมือไซโคลนโมคาว่า ทางการบังกลาเทศอพยพผู้ลี้ภัยโรฮิงยาออกจากหลายพื้นที่เสี่ยงไปยังศูนย์พักพิงชุมชนรวมถึงประชาชนอีกหลายร้อยคนหนีจากเกาะ ขณะที่พายุโมคา ซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 20 ปีเคลื่อนอย่างรวดเร็วเข้าพัดถล่มบังกลาเทศและเมียนมา ชาติเพื่อนบ้าน
หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาบังกลาเทศระบุว่า ไซโคลนโมคากำลังลมสูงสุดที่ 175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ถูกจัดอยู่ในประเภทพายุที่มีความรุนแรงอย่างมาก ขณะเดียวกันหน่วยงานพยากรณ์อากาศของอินเดียระบุว่า เป็นพายุที่รุนแรงสุดขั้ว
คาดว่าจะทำให้เกิดดินถล่มในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.ในเขตค็อกซ์บาซาร์ สถานที่ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่พักพิงที่ไม่แข็งแรง ทำจากไม้ไผ่และสังกะสี รวมถึงเมืองซิตตเว ชายฝั่งรัฐยะไข่ ด้านตะวันตกของเมียนมาด้วย
และยังนับเป็นพายุที่มีกำลังแรงที่สุดนับตั้งแต่ไซโคลนซิดร์ ซึ่งพัดถล่มชายฝั่งทางใต้ของบังกลาเทศในเดือนพ.ย.ปี 2550 ทำให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 3,000 ราย มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ทางการบังกลาเทศห้ามไม่ให้ชาวโรฮิงยาสร้างบ้านคอนกรีตถาวร ด้วยเกรงว่าอาจเป็นแรงจูงใจให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงยาไม่ยอมย้ายกลับประเทศเมียนมาที่หนีออกมาเมื่อ 5 ปีก่อน
พายุจะก่อให้เกิดคลื่นสูงอย่างรวดเร็วถึง 4 เมตร ซึ่งสามารถหลากท่วมชุมชนชายฝั่งและหมู่บ้านริมตลิ่ง ก่อนหน้านี้ อาสาสมัครหลายพันคนกำลังอพยพชาวโรฮิงยาออกจากพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่พักพิงที่โครงสร้างแข็งแรงมากกว่านี้ อาทิ เช่น โรงเรียน
นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนราว 8,000 คนบนเกาะเซนต์ มาร์ติน ทางใต้สุดของบังกลาเทศวิตกกังวล หนึ่งในเขตสถานที่พักอากาศลำดับต้นๆของประเทศ เนื่องจากตั้งอยู่ในเส้นทางที่พายุพัดผ่าน เจ้าหน้าที่ระบุว่า ประชาชนบนเกาะราว 1,000 คนเคลื่อนย้ายเรือหนีไปอีกเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้เรือถูกคลื่นพายุซัด และในเมืองจิตตะกอง ท่าเรือทะเลที่ใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ เรือขนส่งและกิจกรรมประมงถูกระงับชั่วคราว
++++++++