บอร์ดโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติยกเลิกฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของซิโนแวค 2 เข็มต่อเนื่องกัน โดยหากฉีดเข็มแรกไปแล้วให้สลับไปฉีดด้วยรูปแบบอื่นทั้งชนิดไวรัลเวกเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า) และชนิด mRNA (ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา)
วันนี้ (12 ก.ค.) เวลาประมาณ 12.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ผ่านการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก ว่า จากการมีมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด จึงมีการแถลงข่าวแบบออนไลน์ โดยสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังน่าเป็นห่วง ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา และแพร่กระจายไปยังหลายจังหวัด ซึ่งขณะนี้พบผู้ติดเชื้อประมาณ 1 หมื่นรายต่อวัน หรือประมาณ 1 แสนกว่ารายในสองสัปดาห์นี้ ส่งผลให้การอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวอีกว่า มาตรการยาแรงที่ดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ ห้ามมีการรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน ปิดสถานที่เสี่ยง จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล ให้มีการ Work from Home ของเอกชนและรัฐมากที่สุด และมีการปรับแผนฉีดวัคซีน ระดมฉีดให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปให้ได้ 1 ล้านคนใน 2 สัปดาห์นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดรุนแรงใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 12 ล้านโดส แต่กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังยังฉีดให้กลุ่มนี้น้อย ไม่ครบตามที่ตั้งเป้า จึงต้องเร่งฉีดให้มากที่สุดและโดยเร็วที่สุด
สำหรับการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีการพิจารณาประเด็นการควบคุมโรคโควิด 4 ประเด็น ดังนี้
1. เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา โดย รพ.ต่างๆ สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสียสละดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
2. ที่ประชุมรับทราบการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์โดส โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 4 สัปดาห์แล้ว จึงจะดำเนินการฉีดกระตุ้นบูสเตอร์โดสได้ทันที เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงและเร็วที่สุดกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด จากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และจากการกลายพันธุ์จากอัลฟา มาเป็นเดลตา จึงยิ่งมีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นภูมิ โดยวัคซีนที่จะนำมาใช้ฉีดกระตุ้นภูมินั้นจะเป็นของแอสตร้าเซนเนก้าหรือจะเป็น mRNA เช่น ไฟเซอร์ หรือแบบอื่นๆ ก็ได้ตามความเหมาะสม
“การบูสเตอร์โดสจะเป็น แอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลัก เพราะมีข้อมูลทางวิชาการว่า การให้วัคซีนกระตุ้นคนละชนิดจะเป็นผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคล เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 มากขึ้น” นายอนุทิน ระบุ
3. ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางในการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในสถานพยาบาล ลดการไปรอคิวนานจากการรอตรวจ RT-PCR ซึ่งใช้เวลานาน โดยชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่นำมาใช้นั้น ต้องมีการผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับ อย. ปัจจุบันมีผู้มาขึ้นทะเบียน 24 ราย โดยจะอนุญาตให้ตรวจมาตรฐานในสถานพยาบาลกว่า 300 แห่ง ซึ่งเร็วๆ นี้จะอนุญาตให้ตรวจได้เองในประชาชนที่บ้าน และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร รับไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
4. เห็นชอบแนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และแยกกักในชุมชน (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถแยกกักที่บ้าน หรือในส่วนของชุมชนนั้น ก็จะเป็นการแยกกักในบ้านที่อยู่ในชุมชนจำนวนมาก ทั้งหมดจะมีระบบติดตาม มีเครื่องมือวัดออกซิเจนในกระแสเลือด มียา โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีแนวทางและจะจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยทุกราย ซึ่ง สปสช.จะร่วมมือกับ รพ.ที่เป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องนี้
“นอกจากนี้ ยังรับทราบเรื่องหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. เพื่อเข้าดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน ทั้งทางกายและจิตใจ หรือผู้ป่วยที่กลับมาจาก รพ.แล้ว และจะมีชุดคัดกรอง Rapid Antigen Test ไปให้บริการถึงชุมชนถึงบ้านที่ตัวเองอยู่ แต่เรื่องที่ยังต้องปฏิบัติคือ การดูแลป้องกันโรค สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ไม่รับประทานอาหารร่วมกันทั้งในบ้านและนอกบ้าน ลดการเดินทาง ตามแนวทางที่ ศบค.กำหนดไว้ ซึ่งเรามั่นใจว่าจากมาตรการและความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคนจะลดจำนวนผู้ป่วยโควิดได้” นายอนุทิน ย้ำ
ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงให้ข้อมูลผ่านโทรศัพท์กับทีมงานของ Hfocus ว่า มติข้อที่ 1 คือการฉีดวัคซีนสลับชนิด เข็มแรกเป็น ซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า จะดำเนินการฉีดในประชาชนทั่วไป จากนี้ไปเราจะไม่มีการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 เป็นซิโนแวคบวกซิโนแวคอีก เนื่องจากข้อมูลการฉีดเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้านั้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเกือบเท่ากับการฉีดแอสตร้าฯ บวก แอสตร้าฯ แต่ข้อดี คือ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงขึ้นได้ในเวลาเร็วกว่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 14.20 น. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในระหว่างแถลงข่าวร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารกระทรวงคนอื่นๆ ยืนยันถึงมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสูตรการฉีดวัคซีนแบบสลับประเภทดังกล่าวข้างต้น