การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2021 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ซึ่งแน่นอนว่า ตัวเต็งคว้าชัยชนะย่อมหนีไม่พ้น “ทีมชาติบราซิล” มหาอำนาจแห่งวงการลูกหนังโต๊ะเล็ก
เพื่อจะไล่ตามความสำเร็จของทัพเซเลเซา หลายประเทศจึงเลือกใช้วิธีสุดคลาสสิกด้วยการ “โอนสัญชาติ” เข้ามาเสริมแกร่งคุณภาพทีมฟุตซอลของตัวเอง แม้แต่ชาติมหาอำนาจในยุโรปที่หยิ่งเรื่องศักดิ์ศรี ยังเลือกแนวทางนี้กับเขาด้วย
Main Stand จะพาไปหาคำตอบว่า ทำไมแม้แต่ชาติยุโรป ก็ยังใช้แซมบ้าโอนสัญชาติในกีฬาฟุตซอล ? ซึ่งแสดงให้เห็นเหรียญสองด้านของวงการฟุตซอล ที่เกิดในประเทศบราซิล และประเทศอื่นทั่วโลก
นักฟุตซอลล้นตลาดบราซิล
เหมือนที่แฟนลูกหนังทั่วโลกทราบกันดีว่า ฟุตบอล คือกีฬาอันดับหนึ่งของประเทศบราซิล แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของนักฟุตบอลในดินแดนแซมบ้า เคยผ่านประสบการณ์บนเวทีฟุตซอลมาก่อน
เนื่องจากพื้นฐานที่กีฬาฟุตบอลและฟุตซอลมีร่วมกัน คือ “การเตะลูกฟุตบอล” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เยาวชนในประเทศบราซิล จะเล่นฟุตซอลคู่กับกีฬาฟุตบอลไปด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นสนามหญ้าขนาดใหญ่หรือสนามปูนขนาดเล็กข้างบ้าน นักเตะชาวบราซิลก็สามารถวาดลวดลาย และสร้างงานศิลปะของตัวเองฝ่านลูกฟุตบอลได้เหมือนกัน
ฟุตซอล จึงถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่อยู่คู่กับชาวบราซิลในระดับวัฒนธรรม และเป็นแพชชั่นที่อยู่ในใจของเยาวชนทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวยากจน พวกเขาเหล่านี้มีความฝันอยากเติบโตเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ เพื่อหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัวและยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน
แน่นอนว่า ฟุตบอล ถือเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของประเทศ การเดินทางสู่จุดสูงสุดของวงการลูกหนังบราซิล จึงมีการแข่งขันสูงมาก เพื่อหลีกหนีความล้มเหลวที่มีโอกาสเกิดขึ้น เยาวชนบราซิลจำนวนหนึ่งจึงเลือกเดินเส้นทางที่ง่ายกว่า รวมถึงมีโอกาสสร้างชื่อเสียงและรายได้ที่ไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือ ฟุตซอล
งานวิจัย From soccer to futsal: Brazilian elite level men players’ career pathways แสดงความจริงที่นักเตะจำนวนมากเลือกเดินบนเส้นทางฟุตซอลแทนที่จะไปต่อกับกีฬาฟุตบอล นั่นเป็นเพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับบริบททางสังคมและการขัดเกลาทางสังคมในครอบครัว ซึ่งคอยสั่งสอนเยาวชนเหล่านี้ว่า พวกเขาจำเป็นต้องประสบความสำเร็จบนเส้นทางกีฬา และหารายได้กลับมายกระดับชีวิตของผู้คนในครอบครัว
นักฟุตซอลเหล่านี้เห็นตรงกันว่า พวกเขายอมจะลดระดับตัวเองเป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการฟุตซอล ดีกว่าจะฝืนเตะฟุตบอลแล้วเป็นได้แค่นักเตะลีกล่างของบราซิล งานวิจัยดังกล่าวยังยืนยันอีกว่า ฟุตซอลสามารถเป็นอาชีพที่มั่นคงในบราซิลได้ เนื่องจากความต้องการทรัพยากรเยาวชนในประเทศ เพื่อมาปลุกปั้นเป็นนักฟุตซอลอาชีพมีสูง
นักฟุตซอลคุณภาพดีจึงถูกผลิตขึ้นมามากมายไม่แพ้นักฟุตบอลในบราซิล ซึ่งนั่นนำมาสู่การแข่งขันที่เข้มข้น และมีนักฟุตซอลจำนวนไม่น้อยที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อถึงจุดหนึ่งที่พวกเขาต้องเลือกระหว่างการแข่งขันในประเทศ กับประสบการณ์และโอกาสครั้งใหม่ในต่างแดน นักฟุตซอลย่อมไม่ลังเลที่จะกาตัวเลือกหลัง เพราะนักเตะเหล่านี้ไม่เคยลืมว่า ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาต้องหาเงินมาจุนเจือครอบครัว และยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนตามความฝันในวัยเด็กของตน
ทางลัดพัฒนาวงการฟุตซอล
ในทางกลับกัน มีประเทศจำนวนมากบนโลกใบนี้ที่อยากครองความยิ่งใหญ่เหนือวงการฟุตซอล เนื่องจากพวกเขามีกำลังเงินพร้อมที่จะผลักดันกีฬาชนิดนี้ ซึ่งการแข่งขันบนเวทีนานาชาติไม่สูงเท่ากับฟุตบอล แต่ต้องพบปัญหาใหญ่ คือการขาดทรัพยากรผู้เล่นฝีมือดี
หากคุณเชื่อว่ามนุษย์เราสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ด้วยการใช้เงิน … สมาคมกีฬาฟุตซอลหลายประเทศทั่วโลกก็เชื่อไม่ต่างจากคุณ เพราะพวกเขาใช้เงินจำนวนมหาศาลในการกวาดนักฟุตซอลชาวบราซิลเข้ามาค้าแข้งในประเทศ ก่อนโอนสัญชาติเป็นนักเตะทีมชาติดังกล่าวเต็มตัว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ “ทีมชาติคาซัคสถาน” ทีมฟุตซอลอันดับ 7 ของโลก ที่แสดงผลงานได้น่าประทับใจในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2021 ด้วยการทะยานเป็นจ่าฝูงกลุ่ม A จากชัยชนะสองนัดรวดในการแข่งขันรอบแรก ทั้งที่ย้อนกลับไปในการแข่งขันเมื่อปี 2000 คาซัคสถานถูกทีมชาติบราซิลถล่ม 12-1 แถมคว้าชัยชนะไม่ได้สักนัดเดียว
เบื้องหลังการเติบโตอย่างรวดเร็วของฟุตซอลคาซัคสถาน มาจากเม็ดเงินของ ไครัต โอราสเบกอฟ (Kairat Orazbekov) นักธุรกิจเจ้าของสโมสร AFC Kairat ทีมฟุตซอลอันดับหนึ่งของประเทศ และเคยก้าวไปคว้าแชมป์ยุโรปมาแล้วถึง 2 สมัย แถมเพิ่งเอาชนะทีมฟุตซอลบาร์เซโลน่ามาหมาด ๆ ในการแข่งขันแชมเปี้ยนส์ลีก เมื่อปี 2019
เพื่อยกระดับฟุตซอลทีมชาติให้ยิ่งใหญ่เหมือนกับสโมสร ไครัต โอราสเบกอฟ ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อเป็นงบประมาณในการค้นหานักเตะฝีเท้าดีชาวบราซิลเข้ามาเล่นให้กับสโมสร ก่อนแปลงสัญชาติในภายหลัง ทั้ง ลีโอ ฮิกูต้า (Leo Higuita) เจ้าของรางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยม 3 สมัย หรือ ดักลาส จูเนียร์ (Douglas Junior) สองนักเตะที่เก่งที่สุดของคาซัคสถาน ต่างเป็นชาวบราซิลโอนสัญชาติ และเล่นให้กับ AFC Kairat
เห็นได้ชัดว่าการลงทุนในลักษณะนี้ของวงการฟุตซอลคาซัคสถานค่อนข้างคุ้มค่า เพราะนอกจากจะพัฒนาผลงานของฟุตซอลทีมชาติในการแข่งขันระดับโลกแล้ว ยังช่วยพัฒนาคุณภาพของสโมสรในประเทศไปพร้อมกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การโอนสัญชาตินักฟุตซอลชาวบราซิล จะกลายเป็นพิมพ์เขียวของการพัฒนากีฬาฟุตซอลในแต่ละประเทศ
หากไม่ใช่ บราซิล, สเปน, โปรตุเกส และอาร์เจนตินา การพบนักฟุตซอลชาวบราซิลสอดแทรกเป็นหนึ่งในขุนพลทีมชาติแนวหน้า เช่น ญี่ปุ่น หรือ สหรัฐอเมริกา ย่อมพบเห็นเป็นเรื่องปกติ เพราะทั้งสองประเทศมีสถานะใกล้เคียงกับคาซัคสถาน นั่นคือมีงบประมาณจำนวนมากพร้อมว่าจ้างบุคลากรชาวบราซิล เพื่อพัฒนาวงการฟุตซอลในประเทศ
แม้ปัจจุบัน จะมีหลายชาติที่พยายามยั้งเรื่องการโอนสัญชาติ เนื่องจากเป็นห่วงอนาคตของเยาวชนในชาติ แต่สิ่งที่ปรากฏในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2021 คงแสดงให้เห็นแล้วว่า นักฟุตซอลทีมชาติบราซิล ยังเป็นสินค้ายอดฮิตสำหรับหลายประเทศทั่วโลกเหมือนเดิม
เหตุผลที่นักเตะชาวบราซิลเกลื่อนฟุตซอลโลก จึงไม่ซับซ้อนไปมากกว่าความต้องการที่จะประสบความสำเร็จบนเวทีโลกของทีมฟุตซอลจากหลายประเทศทั่วโลก และตราบใดที่นักฟุตซอลชาวบราซิลยังพร้อมจะเดินทางออกมาหากินนอกประเทศ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2021 ก็คงมีให้เห็นกันต่อไปอีกนาน