ประเด็นเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต ระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุนโทษประหารชีวิตและกลุ่มที่ต้องการให้ยกเลิก ยังเป็นประเด็นที่สังคมไทยหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันเป็นระยะ ทุกครั้งที่มีคดีอาชญากรรมเกิดขึ้น โดยกลุ่มที่สนับสนุนโทษประหารมองว่า โทษรุนแรงสูงสุดนี้จะช่วงป้องปรามมิให้เกิดอาชญากรรม ขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตมองว่า โทษนี้นอกจากจะไม่สามารถลดจำนวนอาชญากรรมได้ในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
เมื่อเลือดถูกล้างด้วยเลือด และยังสร้างความพึงพอใจให้กับสังคม จะเป็นไปได้หรือไม่ที่โทษประหารชีวิตจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดอย่างไม่มีข้อสงสัย และโทษดังกล่าวนี้จะมีแง่มุมอื่นใดอีกหรือไม่ที่เรายังไม่รู้ เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล 10 ตุลาคม Sanook จึงขอพาคุณไปสำรวจเบื้องลึกเกี่ยวกับโทษประหาร จากสายตาของ “โทชิ คาซามะ” ช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่ตระเวนถ่ายภาพในแดนประหารทั่วโลกตั้งแต่ปี 1996 และนำผลงานเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้ผู้คนได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของโทษประหารชีวิต
จุดเปลี่ยนในแดนประหาร
โทชิ คาซามะ วัย 60 ปี เกิดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะย้ายมาอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และยึดอาชีพช่างภาพเชิงพาณิชย์ เล่าให้เราฟังว่า เมื่อก่อนเขาก็เหมือนคนทั่วไป ที่สนับสนุนโทษประหาร โดยไม่ได้สนใจที่จะหาข้อมูลอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้รับภารกิจใหม่คือ การถ่ายภาพ “ไมเคิล บาร์นส์” นักโทษประหารที่เป็นเยาวชน วัยเพียง 16 ปี ซึ่งถูกจำคุกในคดีฆาตกรรม ที่เรือนจำอะลาบามา สหรัฐอเมริกา
“เมื่อผมได้รับมอบหมายงานนี้ ภาพที่ผมคิดก็คือ เด็กคนนี้จะต้องเหมือนสัตว์ประหลาด เพราะเป็นคนที่ฆ่าคนอื่นได้ แต่เด็กผู้ชายที่ปรากฏตัวอยู่ตรงหน้าผมขณะนั้นเป็นเพียงเด็กผู้ชายธรรมดา อายุ 16 ปี ดูเป็นคนปกติที่เราเจอตามถนนนี่แหละ ผมนี่อึ้งไปเลย ผมคิดว่า ใครๆ ก็กลายเป็นอาชญากร กลายเป็นนักโทษประหารได้ เหมือนกับที่กลายเป็นเหยื่อได้ ผมเองก็อดไม่ได้ที่จะจับมือและกอดเขา จากนั้นผมก็คิดว่า ถ้าหากผมเกิดเป็นเขาล่ะ ถ้าผมใส่รองเท้าผ้าใบของเขา และมายืนอยู่ตรงหน้าผู้ชายชาวญี่ปุ่นท่าทางประหลาด ถือกล้องตัวใหญ่แบบนี้ล่ะ ดังนั้น ผมก็เลยตัดสินใจที่จะปฏิบัติต่อเขา เหมือนอย่างที่ผมอยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อผม นั่นเป็นการเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่มาก” โทชิเล่าย้อนระลึกถึงประสบการณ์ครั้งแรกในแดนประหาร ก่อนที่เส้นทางชีวิตในฐานะช่างภาพของเขาจะเปลี่ยนไปตลอดกาล
จริงอยู่ที่ภาพถ่ายภาพเดียวสามารถแทนคำพูดได้เป็นล้านคำ ทั้งยังนำเสนอความเป็นจริงได้อย่างชัดเจน แต่โทชิกลับมองว่า ภาพถ่ายเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการทำงานรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตเท่านั้น แต่แนวทางการทำงานเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคน ตั้งแต่ระดับประชาชนทั่วไป ผู้คุม เพชฌฆาต หน่วยงานราชทัณฑ์ ไปจนถึงผู้นำประเทศ กลับเน้นที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนเหล่านั้น อย่างที่โทชิเรียกง่ายๆ ว่า “เปิดใจและเคารพคนอื่น”
“ไม่มีใครที่เกิดมาเป็นฆาตกรเลยหรอก แต่เป็นเพราะสิ่งแวดล้อม และเราต่างก็เป็นผลผลิตของสิ่งแวดล้อม ผมเติบโตที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่สวยงาม และการใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่ที่ความอยุติธรรมและอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ผมเข้าใจว่าผมเป็นผลผลิตของสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ถ้าผมเกิดในครอบครัวที่ปราศจากความรัก ไม่มีการเคารพซึ่งกันและกัน และถูกละเลยตลอดเวลา ผมอาจจะเป็นคนที่เกลียดคนอื่น แล้วก็อาจจะเกลียดตัวเองด้วย เมื่อคุณเริ่มเกลียดตัวเอง คุณก็จะไม่เคารพชีวิตตัวเอง นั่นหมายความว่าคุณจะไม่เคารพชีวิตคนอื่น สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาชญากรรมมากมาย” โทชิกล่าว
ความเป็นจริงจากลานประหาร
งานของโทชิคือการเดินทางไปตามเรือนจำต่างๆ เพื่อถ่ายภาพนักโทษประหารและบรรยากาศในลานประหารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการยิงเป้า แขวนคอ เก้าอี้ไฟฟ้า และการฉีดสารพิษ เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งเคยไปถ่ายภาพการทดสอบระบบเก้าอี้ไฟฟ้าก่อนการประหารชีวิตในวันรุ่งขึ้น ซึ่งทั้งห้องเต็มไปด้วยกลิ่นเนื้อไหม้คละคลุ้ง โดยผู้คุมในเรือนจำแห่งนั้นเล่าว่า นักโทษจะต้องสวมหมวก ล็อกข้อมือและข้อเท้า จากนั้นกระแสไฟฟ้าก็จะแล่นไปตามกระดูกสันหลัง แล้วร่างของนักโทษก็จะไหม้เกรียม ของเหลวในร่างกายไหลออกจากทวาร ซึ่งเป็นภาพที่น่าสยดสยองทั้งสำหรับตัวนักโทษเอง หรือแม้กระทั่งผู้ที่ทำหน้าที่นี้อย่าง “เพชฌฆาต”
“ตอนที่ผมเดินผ่านห้องขังของนักโทษที่รอการประหารในวันรุ่งขึ้น ผมไม่เคยเห็นคนที่มีสีหน้าแบบนั้นมาก่อน พวกเขาหวาดกลัว ส่วนเพชฌฆาตนั้นก็ไม่ได้อยากรู้ว่าจะต้องฆ่าใคร ดังนั้น ก็จะมีสวิตช์ 2 อัน และให้เพชฌฆาต 2 คน เป็นผู้กดสวิตช์ แต่ทั้งคู่ไม่รู้ว่าสายไหนเชื่อมต่อกับเก้าอี้ นั่นหมายความว่า ทั้งคู่ก็หวังว่าสายของตนเองจะไม่เชื่อมต่อกับเก้าอี้ เพชฌฆาตบอกกับผมว่า ช่วยบอกให้โลกภายนอกรู้หน่อยว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องฆ่าใครอีก นั่นคือเสียงที่แท้จริง ภายนอกพวกเขาอาจจะดูโหดเหี้ยม แต่ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการประหารชีวิตนักโทษ ซึ่งผมได้พูดคุยด้วย บางคนถึงกับร้องไห้ต่อหน้าผม และบอกว่าพวกเขาไม่อาจฆ่าคนได้อีกต่อไป” โทชิเล่าสิ่งที่พบจากการพูดคุยกับเพชฌฆาตหลายคน ที่หน้าที่การงานได้ทิ้งแผลเป็นไว้ในจิตใจของพวกเขา
“ผมได้ไปดูลานประหารหลายๆ แห่ง มันเป็นอะไรที่น่าหดหู่ ความเป็นจริงเหล่านี้มันห่างไกลจากความรับรู้ของคนภายนอก เพราะคนภายนอกก็จะรู้สึกว่า ไอ้คนนี้เป็นคนเลว มันสมควรตาย เพื่อชดใช้ให้กับครอบครัวของเหยื่อ แต่ที่จริงแล้ว การประหารชีวิตก็คือการฆ่าคน คุณไม่รู้หรอกว่าเพชฌฆาตรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องลั่นไกยิงคน แล้วทำไมคุณต้องบังคับคนอื่นให้ฆ่าคนแทนคุณ และเมื่อเพชฌฆาตฆ่าคนในประเทศนี้ มันไม่ใช่แค่ตัวเพชฌฆาตคนเดียวที่ฆ่า แต่คนทุกคนในประเทศก็ฆ่าคนด้วย เพราะมันคือการฆ่าโดยรัฐ” โทชิแสดงความเห็น
นอกจากการเดินสายเพื่อนำเสนอความเป็นจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตในประเทศต่างๆ โทชิยังพยายามผลักดันให้หลายประเทศหันมาใช้ “ระบบยุติธรรมที่เน้นการเยียวยา” (Restorative Justice) คือการหาสาเหตุของอาชญากรรม และเยียวยาครอบครัวของเหยื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ต่อไป แทนการใช้ระบบยุติธรรมที่เน้นการลงโทษ (Punitive Justice)
“ความยุติธรรมแบบเยียวยาคือ เมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้น กระบวนการยุติธรรมจะหาสาเหตุว่าทำไมจึงเกิดอาชญากรรมนี้ตั้งแต่แรก คนคนนี้เติบโตมาอย่างไร ขณะเดียวกันก็หาวิธีเยียวยาครอบครัวของเหยื่อ เมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรครบถ้วนแล้ว ก็จะมีการจัดสรรบุคลากรที่มาทำงานในส่วนของอาชญากร โดยอาชญากรอาจจะต้องถูกควบคุมตัวให้อยู่นอกเมือง ในพื้นที่เปิดสัก 2 – 3 ปี อยู่กับธรรมชาติ ไม่มีรั้วกั้น แต่มีการควบคุมดูแล และมีการปรับพฤติกรรมโดยผู้ที่ใส่ใจเขาจริงๆ นั่นคือการโฟกัสที่การปรับพฤติกรรมของอาชญากร เมื่อพวกเขาดีขึ้น ก็ส่งตัวกลับคืนสู่สังคม ในขณะที่ระบบยุติธรรมที่เน้นการลงโทษ โดยการจับขังคุก คุกเป็นสถานที่ที่แย่ที่สุด หากคุณติดคุกนาน 5 ปี แล้วออกมา คุณจะกลายเป็นอาชญากรที่เลวร้ายกว่าเดิม แล้วก็จะยิ่งทำลายสังคมมากกว่าเดิม” โทชิอธิบาย พร้อมเสริมว่า การหาสาเหตุของอาชญากรรมจะทำให้ได้มาตรการเชิงป้องกัน ดังนั้น รัฐหรือประเทศที่ยกเลิกโทษประหารจึงมีอัตราคดีฆาตกรรมน้อย เนื่องจากมีการป้องกันล่วงหน้า แต่ประเทศที่มีการใช้โทษประหารกลับมีตัวเลขคดีฆาตกรรมที่สูงกว่า
ประหาร = คืนความยุติธรรมให้ครอบครัวเหยื่อ?
ในวิวาทะเรื่องโทษประหารชีวิต ข้อโต้แย้งที่มักจะถูกนำมาใช้สนับสนุนโทษประหารก็คือ การประหารชีวิตอาชญากรเป็นการคืนความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวเหยื่อ แต่ในมุมมองของโทชิ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกเอเชีย องค์กรเครือข่ายญาติและครอบครัวของเหยื่ออาชญากรรม (Murder Victims’ Families for Human Rights) กลับมองว่าการประหารชีวิตผู้ก่อเหตุไม่ได้นำความสงบมาให้ครอบครัวของเหยื่ออาชญากรรมแต่อย่างใด แม้สังคมจะแสดงความยินดีที่คดีสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม
“เมื่อมีการประหารชีวิตอาชญากรคนหนึ่ง ปิดแฟ้มคดี สังคมก็ปิดประเด็น แต่หากคุณสูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากเหตุฆาตกรรม นั่นไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้จะจบนะครับ เพราะสมาชิกในครอบครัวของเหยื่อจำนวนมากจะมีความโกรธแค้นในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาต้องกลับไปใช้ชีวิตปกติ และจำเป็นต้องให้อภัยตัวเองที่มีทั้งความเกลียดชังและโกรธแค้น และเมื่อพวกเขาไม่อาจให้อภัยตัวเองได้ สุดท้ายก็ฆ่าตัวตาย หันไปเสพยา หรือติดแอลกอฮอล์ เพียงเพราะว่าพวกเขาไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ สิ่งที่ครอบครัวของเหยื่อต้องการมากๆ ก็คือ การชดเชยตามกฎหมาย และการเยียวยาด้านจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แน่นอนว่าคนทั่วไปรู้สึกสงสารเหยื่อและครอบครัว แต่ความสงสารไม่ได้ทำให้ครอบครัวของเหยื่อได้รับเงินชดเชย ครอบครัวของเหยื่อส่วนใหญ่ต้องสูญเสียเสาหลักของครอบครัว และต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน ขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับความแค้น ความโกรธเกลียด ซึ่งจำเป็นต้องมีการเยียวยาด้านจิตใจด้วย” โทชิอธิบาย
หลายคนอาจจะคิดว่าโทชิเป็นเพียงนักกิจกรรมโลกสวย ที่คิดไปเองว่าครอบครัวเหยื่อต้องการการเยียวยามากกว่าการเห็นอาชญากรถูกลงโทษ แต่รู้หรือไม่ว่า ตัวเขาเองก็เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดเช่นกัน โดยเมื่อ 14 ปีก่อน ที่นิวยอร์ก เขาถูกชายคนหนึ่งทำร้ายร่างกายโดยการจับใบหน้าของเขากระแทกกับฟุตปาธ จนสลบไปนานถึง 5 วัน แพทย์ลงความเห็นว่าโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก หรือหากรอด เขาต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต แต่สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์อันเลวร้ายครั้งนั้นก็มากมายกว่าที่คิด
“ผมน่าจะนอนอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ จากนั้น โรงพยาบาลก็ส่งบิลค่าใช้จ่ายมาให้ผม ผมเป็นเหยื่อนะ แล้วค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐฯ ก็แพงมาก ตอนนั้นผมจ่ายไป 65,000 เหรียญสหรัฐ และบริษัทประกันก็ปฏิเสธที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะเงื่อนไขระบุว่า หากคุณประสบเหตุจากสงครามหรืออาชญากรรม บริษัทประกันสามารถปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาได้ จากนั้น รัฐนิวยอร์กก็จ่ายเงินให้ผม 600 เหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น การเยียวยาอันดับหนึ่งควรเป็นการช่วยเหลือด้านการเงิน และอีกอย่างที่สำคัญพอๆ กันก็คือการเยียวยาด้านจิตใจ นั่นเป็นปัจจัยหลัก 2 ประการ”
ปัจจุบัน ร่างกายของโทชิฟื้นตัวพอสมควร แต่ผลจากการถูกทำร้ายครั้งนั้นยังคงอยู่ เขายังคงต้องเข้ารับการผ่าตัด รวมทั้งยังได้ยินเสียงในหูข้างขวา ปวดหัว ร่างกายเสียสมดุล และหน้ามืดเป็นลมบางครั้ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าเรื่องร่างกาย ก็คือจิตใจที่ยังคงมีความโกรธแค้น ซึ่งเขาก็ต้องจัดการ
“ผมรู้ตัวนะว่าบางครั้งก็มีอารมณ์โกรธบ้าง ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่เป็นลูกสาวผมด้วย เพราะเธอก็เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด และภาพเหตุการณ์วันนั้นก็มีผลกับเธอจนกระทั่งถึงตอนนี้ มันยากจริงๆ แต่เมื่อผมรู้สึกโกรธแค้น หรือเกลียดคนคนนั้นขึ้นมา ผมก็รู้สึกไม่สงบ ดังนั้น ผมจึงพยายามขัดเกลาจิตใจตัวเอง พยายามโฟกัสถึงส่วนที่ดีในชีวิต ขณะเดียวกันผมก็พยายามจะทำประโยชน์เพื่อยืนยันการมีตัวตนอยู่ของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นการบำบัดเยียวยาที่ดีที่สุด” โทชิตอบคำถามเกี่ยวกับการเยียวยาจิตใจตัวเองจากความโกรธแค้น ซึ่งเขาบอกว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุด นอกจากนี้ จากประสบการณ์การทำงานกับครอบครัวเหยื่ออาชญากรรม ทำให้เขารู้สึกว่า ห้วงอารมณ์ที่อยากแก้แค้นสามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวได้
“ผู้ก่อเหตุคนนี้ไม่เคยถูกจับได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่ผมคิดได้ก็คือ เมื่อวันหนึ่งเขาได้รับความรัก เขาก็จะเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำกับผมนั้นมันเลวร้ายแค่ไหน แล้วเขาก็จะมาพบผมและขอโทษ นั่นคือความฝันของผม และเป็นการเยียวยาที่ดีที่สุดสำหรับผม ผมแน่ใจว่าเขาก็คงไม่ได้ใส่ใจชีวิตตัวเองหรือชีวิตคนอื่นอยู่แล้ว ถึงได้ทำร้ายผมแบบนั้น แต่ผมเชื่อว่า เมื่อเขาได้สัมผัสกับความรักที่แท้จริง ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข และเขารู้จักที่จะรัก เขาก็คงรู้ในที่สุด ผมไม่ได้ต้องการการลงโทษใดๆ ผมต้องการแค่คำขอโทษที่จริงใจเท่านั้น และมันจะช่วยเยียวยาผมได้ อาจจะมีปาฏิหาริย์ก็ได้นะ”
ช่องว่างระหว่าง “สิ่งที่คิด” กับ “ความเป็นจริง”
“ผมเองก็เคยสนับสนุนการประหารชีวิตมาก่อน แต่เมื่อผมได้เรียนรู้ ผมได้เห็นช่องว่างที่กว้างมากระหว่างความคิดของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตกับความจริงของโทษประหารชีวิต ผมก็เลยพยายามทำให้ช่องว่างนี้แคบลง โดยพยายามให้ความรู้กับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ตัดสินใจให้มากขึ้น” โทชิเล่าจุดประสงค์ในการทำงานรณรงค์เรื่องโทษประหารชีวิต ที่เขาลงมือทำด้วยตัวเองมานานกว่า 20 ปี นั่นคือการให้ความรู้กับรัฐบาลเป็นหลัก เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งเขาเชื่อว่า หากรัฐบาลมีความรู้และความกล้าหาญมากพอ ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนได้
“เมื่อผมได้เรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับโทษประหาร ผมรู้สึกว่าไม่มีใครหรอกที่จะสนับสนุนเรื่องนี้อย่างหมดใจ ดังนั้น มันเป็นการตัดสินใจจากเบื้องบนลงมา ผมก็หวังว่าผู้นำประเทศจะพิจารณาและให้ความสำคัญต่อการเคารพในชีวิตของทุกคน และนำประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น นั่นคือสิ่งที่ผมอยากเห็น” โทชิทิ้งท้าย