การแบ่งแยกสีผิว ถือเป็นประเด็กใหญ่ในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2021 เมื่อชาวเอเชียจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา ถูกทำร้ายและได้รับความเกลียดชังจากเพื่อร่วมชาติ เพียงเพราะสีผิวที่แตกต่าง
ปัญหาที่เกิดขึ้น ชวนให้เรานึกถึงเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง Invictus (2009) เรื่องราวของ เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ ที่สร้างความสามัคคีแก่คนในชาติด้วยกีฬารักบี้ ซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดผิวในประเทศแห่งนี้
นี่คือเรื่องราวที่จะย้ำเตือนทุกคนว่า การแบ่งแยกสีผิว สามารถทำร้ายเพื่อนมนุษย์ได้มากแค่ไหน กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศแอฟริกาใต้
นโยบายถือสีผิว
ภาพยนตร์เรื่อง Invictus เริ่มต้นฉากแรกด้วยเหตุการณ์โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์แอฟริกาใต้ นั่นคือการปล่อยตัว เนลสัน แมนเดลา นักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ที่ถูกจำคุกยาวนาน 27 ปี ด้วยความผิดฐานการก่อการร้าย และเป็นกบฏต่อชาติ
Photo : accionpoliticaglobal.wordpress.com
หนังเรื่องนี้พาผู้ชมย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1990 เราจะได้เห็นเด็กวัยรุ่นผิวดำที่ยากจนและไร้เสื้อผ้าสวมใส่ แสดงความดีใจที่เห็นฮีโร่ของพวกเขาได้รับอิสรภาพ
ขณะที่อีกฟากฝั่งของถนน นักกีฬาเยาวชนรักบี้ซึ่งทั้งหมดเป็นคนผิวขาว กลับยืนเกาะรั้วด้วยความประหลาดใจ เพราะพวกเขาไม่รู้จักแมนเดลา แถมเฮดโค้ชของทีมยังบอกเด็กเหล่านั้นว่า “นี่คือวันที่ประเทศของเราตกต่ำ”
ฉากแรกของภาพยนตร์เรื่องนี้บ่งบอกถึงการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในแอฟริกาใต้นับตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ก่อนปะทุเป็นความขัดแย้งระดับชาติ หลัง พรรคแห่งชาติ (National Party) พรรคการเมืองขวาจัดที่นิยมความสูงสุดของคนผิวขาว (White Supremacism) ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในปี 1948 ทั้ง ๆ ที่ได้รับคะแนนโหวตรวมจากประชาชนทั่วประเทศน้อยกว่า อันเป็นเหตุจากระบบการเลือกตั้งแบบ “First-past-the-post” แบบเดียวกับที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา
เมื่อมีอำนาจในมือ รัฐบาลพรรคแห่งชาติ จึงประกาศนโยบาย “การถือผิว” (Apartheid) ถือเป็นระบบที่แบ่งแยกกลุ่มคนต่างเชื้อชาติให้แยกขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ คนผิวดำไม่สามารถอาศัยในพื้นที่เดียวกันกับคนผิวขาว และไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา, การพยาบาล และบริการสาธารณะแบบเดียวกับคนผิวขาว
Photo : www.thestar.com
นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวถือครองที่ดินในประเทศมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนผิวดำและเชื้อชาติอื่นต้องอาศัยอย่างยากลำบากใน “บันตูสถาน” เขตปกครองตนเองที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่แห้งแล้งทั่วประเทศ (ภาพยนตร์เรื่อง District 9 ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์นี้)
การปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์ราวกับไม่ใช่คน ส่งผลให้คนผิวดำในแอฟริกาใต้ไม่พอใจ จึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ในช่วงแรก การประท้วงเป็นไปแบบสันติวิธี แต่หลังจากเหตุการณ์ “การสังหารหมู่ที่ชาร์ปวิลล์” (Sharpeville Massacre) กลุ่มต่อต้านจึงยกระดับเป็นกองกำลังติดอาวุธ เพื่อตอบโตรัฐบาลที่สังหารชาวผิวดำ 69 คน ในเหตุการณ์อันน่าเศร้าเมื่อปี 1960
Photo : michiganintheworld.history.lsa.umich.edu
Photo : medium.com
เนลสัน แมนเดลา เชื่อว่าคนผิวดำควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับคนผิวขาว เขาจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress) และเริ่มต้นบทบาทแกนนำประท้วงนโยบายการถือผิว ก่อนก้าวสู่ผู้นำกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่า หอกแห่งชาติ (Umkhonto we Sizwe) เมื่อปี 1961
แมนเดลาเคลื่อนไหวได้ไม่นานก่อนถูกจับในปี 1964 และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากความผิดที่ก่อ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถูกคุมขังบนเกาะโรบเบิน การต่อสู้เพื่อสันติภาพของแมนเดลาถูกลบเลือนจากความทรงจำ ภาพถ่ายและคำพูดของเขากลายเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศแอฟริกาใต้
Photo : www.bl.uk
การเคลื่อนไหวของแมนเดลาไม่เคยได้รับการยอมรับในสายตาผู้นำชาติมหาอำนาจ ทั้ง โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ มาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ต่างเคยกล่าวโจมตีแมนเดลาเป็นผู้ก่อการร้าย เนื่องจากแมนเดลาและพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา มีความใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต ในทางกลับกัน เรแกนและแทตเชอร์เป็นผู้นำที่มีหัวคิดอนุรักษ์นิยม ปัญหาการแบ่งแยกสีผิวจึงไม่เคยเป็นเรื่องใหญ่
แรงกดดันในการปล่อยตัวแมนเดลา และยุตินโยบายถือสีผิวจึงมาจากกลุ่มคนหัวก้าวหน้าในโลกเสรีที่ต้องการเห็นความเท่าเทียมทางสีผิว และอิสรภาพเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก หลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน เมื่อปี 1989 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพทั้งมวล รัฐบาลอเมริกาใต้จึงไม่อาจนิ่งเฉยต่อประชาคมโลกอีกต่อไป
Photo : www.thoughtco.com
การปล่อยตัวแมนเดลา นำมาสู่จุดสิ้นสุดของการถือผิวในปี 1991 เขาถูกยกย่องเป็นวีรบุรุษของชาวแอฟริกาใต้ และคนทั่วโลกในฐานะผู้ยืนหยัดต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิว ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศในปี 1994 หลังเอาชนะการเลือกตั้งที่คนผิวดำสามารถใช้สิทธิ์ลงคะแนนเช่นเดียวกับคนผิวขาว
รักบี้รวมชาติ
ปัญหาการแบ่งแยกสีผิวยังคงดำเนินต่อไป แม้นโยบายการถือผิวจะสิ้นสุดลง การสร้างความสามัคคีแก่คนในชาติจึงเป็นงานหลักของแมนเดลา ทันทีที่เขาก้าวสู่บทบาทประธานาธิบดี
หนึ่งในเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำในแอฟริกาใต้ คือ กีฬา เพราะประเทศแห่งนี้มีกีฬาสองชนิดที่ได้รับความนิยมจากประชาชน ได้แก่ ฟุตบอล และรักบี้
Photo : www.nytimes.com
ฟุตบอลถือเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของชาวผิวดำซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่ประชาชนส่วนน้อยแต่มีอำนาจมากกว่าอย่างคนผิวขาว นิยมเล่นกีฬารักบี้มากกว่า ถือเป็นแนวคิดที่สืบเนื่องจากอดีตเจ้าอาณานิคมอย่าง สหราชอาณาจักร ที่ถือว่ารักบี้เป็นกีฬาของชนชั้นสูง ส่วนฟุตบอลคือกีฬาของชนชั้นล่าง
รักบี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ทางสีผิวในแอฟริกาใต้ เพราะคนผิวดำในประเทศนี้ไม่เคยมีสิทธิเล่นกีฬาอันสูงส่ง ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลพรรคแห่งชาติ ยังให้การสนับสนุนกีฬารักบี้ในฐานะกีฬาประจำชาติ (แม้มีคนเล่นน้อยกว่าฟุตบอล) และเป็นสปอนเซอร์หลักแก่รักบี้ทีมชาติแอฟริกาใต้
ฉากที่ชาวแอฟริกาใต้ผิวดำเชียร์ทีมชาติอังกฤษ แทนจะเป็นรักบี้ทีมชาติแอฟริกาใต้ ในภาพยนตร์เรื่อง Invictus แสดงให้เห็นถึงความชิงชังที่คนผิวดำรู้สึกต่อกีฬารักบี้ และเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในแอฟริกาใต้
แมนเดลาทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เขารู้ดีว่า ประเทศแอฟริกาใต้ที่ทุกคนเท่าเทียมกันตามแนวคิดชาติสีรุ้ง (Rainbow Nation) ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง หากคนผิวดำยังเกลียดชังกีฬาของคนผิวขาว
หนึ่งในทางเลือกที่ยุติปัญหาทั้งหมด คือการปฏิวัติกีฬาชนิดนี้เสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนโลโก้หรือสีประจำทีมรักบี้ทีมชาติแอฟริกาใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉายา “เดอะ สปริงบอกส์” ที่สื่อถึงชายผิวขาวผู้สง่างาม ผ่านการเปรียบตัวเองเข้ากับแอนทิโลปตัวผู้
แมนเดลาปฏิเสธแนวทางนั้น เขามองว่าวิธีดังกล่าวจะสร้างความหวาดกลัวแก่ชาวผิวขาว และแบ่งแยกคนในชาติมากขึ้นไปอีก แมนเดลาเลือกแสดงตนเป็นตัวอย่างถึงแนวคิดที่คนผิวดำควรมีต่อกีฬารักบี้ ด้วยการสานสัมพันธ์กับ ฟรองซัวส์ พีนาร์ กัปตันทีมสปริงบอกส์ และประกาศต่อสาธารณชนว่า เขาสนับสนุนรักบี้ทีมชาติแอฟริกาใต้ ที่กำลังจะลงแข่งขันการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกในปี 1995
Photo : www.thestar.com
“One team, one country” กลายเป็นสโลแกนที่ถูกใช้เพื่อปลุกระดมคนในชาติ ก่อนการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก แมนเดลามองเห็นว่าทัวร์นาเมนต์นี้ คือโอกาสทองที่จะรวมคนในชาติเป็นหนึ่ง เพราะเจ้าภาพจัดการแข่งขันคือ แอฟริกาใต้ หมายความว่า ทุกคนในประเทศมีส่วนร่วมกับรายการนี้
“เรามีสุดยอดผู้นำที่มองเห็นว่ากีฬาชนิดนี้สำคัญกับคนผิวขาวในแอฟริกาใต้มากแค่ไหน เขาได้รับความเคารพและความเชื่อใจจากพวกเราเพราะเรื่องนี้” ฟรองซัวส์ พีนาร์ ย้อนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1995
“แต่อีกด้าน ผมเคารพแมนเดลากับสิ่งที่เขาทำ เพราะทีมสปริงบอกส์คือสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกสีผิว ชาวแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่ไม่เคยสนับสนุนรักบี้ทีมชาติตัวเอง เพราะฉะนั้น การขอให้พวกเขาหันกลับมาเชียร์ทีมของเรา คือเรื่องใหญ่สำหรับใครหลายคน”
Photo : edition.cnn.com
มีชาวแอฟริกาใต้ผิวดำเพียง 1,000 คนเท่านั้น ที่เดินทางสู่สนามกีฬา เอลลิส ปาร์ก เพื่อส่งเสียงเชียร์ทัพสปริงบอกส์ แมนเดลาแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยม ด้วยการปรากฎตัวหลังรักบี้ทีมชาติแอฟริกาใต้คว้าชัยชนะเหนือนิวซีแลนด์ ด้วยสกอร์ 15-12 และคว้าถ้วย เวบบ์ เอลลิส สัญลักษณ์แห่งแชมป์โลกในกีฬารักบี้มาครองเป็นสมัยแรก
ประธานาธิบดีแห่งแอฟริกาใต้เดินลงสู่สนาม เพื่อมอบถ้วย เวบบ์ เอลลิส แก่ ฟรองซัวส์ พีนาร์ นี่คือวินาทีที่เปลี่ยนประเทศแห่งนี้ไปตลอดกาล
Photo : www.tracknerds.com
Photo : movietrifles.com
ภาพของชาวแอฟริกาใต้สองคนที่สีผิวแตกต่าง แต่มีหัวใจเดียวกันถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก เหตุการณ์นี้ถือเป็นสัญลักษณ์การยุติความขัดแย้งทางสีผิวที่เกิดขึ้นภายในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งดำเนินยาวนานเกือบ 50 ปี
นับจากวันนั้น รักบี้กลายเป็นกีฬาประจำชาติของชาวแอฟริกาใต้อย่างแท้จริง มีคนผิวดำจำนวนมากที่หันมาเล่นกีฬานี้และก้าวสู่ทัพสปริงบอกส์ ภาพแห่งความประทับใจเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2019 เมื่อ ซิยา โคลิซี กัปตันทีมรักบี้ทีมชาติแอฟริกาใต้ผิวดำคนแรก สามารถพาทีมสปริงบอกส์คว้าแชมป์โลกสมัยที่สองได้สำเร็จ
Photo : www.eurosport.com
ประเทศที่เต็มไปด้วยความแตกแยกและบาดแผล สามารถรวมเป็นหนึ่งด้วยกีฬา คือเรื่องราวที่น่าเหลือเชื่อ แต่ เนลสัน แมนเดลา แสดงให้คนทั่วโลกเห็นว่า ความสามัคคีในชาติสามารถเกิดขึ้นได้ หากเราเข้าใจกันและกันมากพอ
โชคร้ายที่ผู้มีอำนาจบางคนบนโลกใบนี้ ไม่ได้คิดแบบเดียวกันแบบแมนเดลา การยุงยงปลุกปั่นให้เกลียดชังเพื่อนมนุษย์ที่จ่างกันเพียงสีผิว จึงยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลกจนถึงปัจจุบัน
เราหวังว่าผู้คนจะเรียนจากประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งคอยย้ำเตือนเราว่า การแบ่งแยกสีผิว ไม่เคยสร้างอะไร นอกจากทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง