คณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553 จัดงาน 13 ปี เมษา-พฤษภา 2553 เพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2566
การจัดงานดังกล่าว นอกจากรำลึกถึงผู้เสียชีวิตแล้ว คือการติดตามทวงถามคดีที่รัฐก่ออาชญากรรมต่อประชาชน หรือคดี 99 ศพ ปัจจุบันยังไม่ได้รับการชำระสะสาง โดยเฉพาะการพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล
เหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลในขณะนั้นยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ เป็นการเรียกร้องที่อยู่ในกรอบระบอบประชาธิปไตย
สุดท้ายรัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่ติดอาวุธกระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุม เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.53 ไปสิ้นสุดวันที่ 19 พ.ค.53 มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 ราย
กลุ่มผู้เสียชีวิตมีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ผู้ชุมนุม อาสาสมัครภู้ภัย พยาบาลอาสา ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม
ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ชี้ชัดเจนจำนวน 17 ศพ ถูกกระสุนปืนเจ้าหน้าที่ทำให้เสียชีวิต จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีนายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ ในฐานะผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินขณะนั้น
แต่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ในเชิงเทคนิคทางกฎหมาย จึงยังไม่ถูกนำตัวไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อไต่สวน สืบพยานพิสูจน์ความถูกผิดในชั้นศาล
นอกจากนี้ หลังรัฐประหาร 2557 ยังมีความพยายามจากกลุ่มอำนาจต้องการถ่วงคดีให้ยืดยาวออกไป จนเหลืออีก 7 ปี คดีใกล้หมดอายุความ
ในเวทีรำลึก 13 ปี เหตุการณ์เม.ย.-พ.ค.2553 นอกจากภาคประชาชนแล้ว ยังมีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมเสนอแนวนโยบายเพื่อคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต
โดยข้อเรียกร้องสำคัญคือ การนำตัวบุคคลระดับสั่งการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กระสุนจริงจนนำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชน เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลอาญาพลเรือน ไม่ใช่ศาลทหาร
อีกประการคือ ขอให้รัฐบาลใหม่ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีเหตุการณ์สลายม็อบ 53 เพื่อจะได้เป็นหลักประกันในอนาคตว่าจะไม่มีการก่ออาชญากรรมโดยรัฐอีกต่อไป
ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นอีกภารกิจสำคัญ โดยเฉพาะต่อพรรคการเมืองที่ยึดมั่นแนวทางประชาธิปไตย หากได้มีโอกาสเป็นรัฐบาล