นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ชี้แจงข้อสังเกตถึงความไม่เหมาะสม กรณีโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เปิดเผยข้อมูล ส.ว.แต่งตั้งเครือญาติ และลูกหลานเข้ามาเป็นคณะทำงาน
โดยประธานวุฒิฯ ระบุตามระเบียบที่ปฏิบัติมา ทั้งส.ส.และส.ว.มีคณะทำงาน 8 คน แต่บางคนก็ไม่แต่งตั้งคณะทำงาน เช่น ส.ว.ที่มาโดยตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ
ทั้งยังระบุด้วยว่าการแต่งตั้งดังกล่าวไม่เฉพาะ ส.ว.เท่านั้น แต่มีส.ส.ด้วยเหมือนกัน บางคนมีความประสงค์แต่งตั้งคนที่ไว้วางใจเข้ามาร่วมคณะทำงาน
ยืนยันการที่ส.ว.แต่งตั้งเครือญาติเป็นไปตามกฎระเบียบ ไม่ผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม
สําหรับข้อสังเกตที่ไอลอว์เปิดเผย ระบุ ส.ว.แต่งตั้งเครือญาติเข้ามาเป็นคณะทำงานมากกว่า 50 ราย ทั้งยังนำไปฝากกับส.ว.คนอื่น รวมถึงมีบุคคลในเครื่องแบบ ผู้เกี่ยวข้องกับคสช. และนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล
ไอลอว์เปรียบเทียบว่าการแต่งตั้งดังกล่าวทำเป็นอุตสาหกรรม ไม่ต่างจากยุคคสช. เพียงแต่ ซ่อนรูปอยู่ในส.ว.แต่งตั้ง ที่เครือญาติและคนรู้จักยังได้ประโยชน์มหาศาลอยู่เช่นเดิม
ตั้งแต่พ.ค.2562 ถึงพ.ค.2565 ในระยะเวลา 3 ปีที่ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนเข้ารับตำแหน่ง มีการจ่าย ค่าตอบแทนให้ส.ว. และคณะทำงานไปแล้ว อย่างน้อย 2,230 กว่าล้านบาท
เป็นงบประมาณเงินภาษีประชาชน ที่ส่วนหนึ่งต้องนำมาเป็นค่าตอบแทนให้เครือญาติ และคนใกล้ชิดส.ว.ด้วย
คําชี้แจงการที่ ส.ว.แต่งตั้งเครือญาติ ก็เหมือน กับส.ส.ด้วยเช่นกัน ย่อมแต่งตั้งคนใกล้ชิด คนไว้วางใจเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน เป็นผู้ช่วย เป็นที่ปรึกษา
แต่ความจริงอีกด้าน ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง มีที่มาและยึดโยงประชาชน การที่ส.ส.จะกระทำอะไรสุ่มเสี่ยงต่อมาตรฐานทางจริยธรรม เช่น แต่งตั้งเครือญาติจะเหมาะสมหรือไม่ ส.ส.คนนั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ว่าประชาชนจะยินยอมให้กลับเข้าสภาอีกหรือไม่
ขณะที่ 250 ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม จึงไม่มีที่มาและอะไรที่ยึดโยงประชาชน
ดังนั้น ฉันทานุมัติของสังคมจะเหมาะสมหรือไม่ที่ยินยอมให้ส.ว.ใช้เงินภาษีประชาชน ย่อมไม่เหมือนกับส.ส.อย่างสิ้นเชิง