คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. สรุปตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ตามที่มีผู้ลงทะเบียนไว้ 2,235,830 คน มาใช้สิทธิ์จริง 2,014,903 คน หรือร้อยละ 90.98 สะท้อนให้เห็นว่าเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนตื่นตัวสูงมาก
แต่ในความตื่นตัวนี้ ส่วนหนึ่งกลับเดือดดาลและไม่ไว้วางใจต่อการทำหน้าที่ของ กกต. เนื่องจากได้สัมผัสถึงความบกพร่องและข้อผิดพลาดต่างๆ มากมาย
หลายคนพากันออกมาแชร์ประสบการณ์ตรง ในการพบสิ่งผิดปกติไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง เช่น เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเขียนจ่าหน้าซองผิดเขต พบรถขนผู้สูงอายุมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า
เจ้าหน้าที่กาบัตรเลือกตั้งแทนผู้พิการทางสายตา โดยไม่ยอมให้ตรวจสอบบัตรดังกล่าวมีอักษรเบรลหรือไม่ ยังมีที่รายชื่อผู้สมัครส.ส.บางพรรคหายไป
ความผิดพลาดบกพร่องของ กกต. ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหวั่นเกรงว่า อาจส่งผลต่อคะแนนเสียงของตนเอง มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนตามไปด้วย
สังคมโซเชี่ยลตั้งคำถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แฮชแท็ก #กกต.มีไว้ทำไม และ #กกต.ต้องติดคุก กลายเป็นคำค้นยอดนิยมอันดับ 1 และ 2 ในเวลาแค่ข้ามคืน
กระแสการลงชื่อถอดถอน กกต. ในเว็บไซต์ change.org ภายใต้แคมเปญ ล่ารายชื่อถอดถอนกรรมการการเลือกตั้งที่ดูมีมลทินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย พุ่งทะลุเกิน 1 ล้านราย จากเดิมในการเลือกตั้งปี 2562 มีผู้ร่วมลงชื่อไว้ 849,079 ราย แล้วหยุดไป
จนเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม กระแสลงชื่อถอดถอน กกต. กลับมาเคลื่อนไหวร้อนแรงอีกครั้ง จากจำนวนผู้เห็นด้วยกับแคมเปญดังกล่าวขยับขึ้นเป็นมากกว่า 1 ล้านรายชื่อ
ยังไม่นับรวมปัญหาอื่น เช่น ระบบคิวอาร์โค้ดล่ม รายชื่อตกหล่น เนื่องจากลงทะเบียนไม่สำเร็จ แต่ไม่ได้รับแจ้ง ความไม่ชัดเจนในเรื่องสถานที่ ไม่มีการเตรียมรับมือสภาพอากาศร้อนระอุ ฯลฯ
กกต.ได้งบจัดเลือกตั้งครั้งนี้สูงเกือบ 6,000 ล้านบาท เดินทางไปดูงานต่างประเทศบ่อยครั้ง แต่ทั้งหมดดูเหมือนไม่คุ้มค่ากับผลงาน เบื้องต้นสะท้อนจากการจัดเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ 2.2 ล้านกว่าคน
หมายความว่าวันเลือกตั้งจริง 14 พฤษภาคม จะมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 50 ล้านคน หากมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 80 จะเท่ากับ 40 ล้านคน ถ้าร้อยละ 90 เท่าผู้มาใช้สิทธิ์ล่วงหน้าจะเท่ากับ 45 ล้านคน
ประสิทธิภาพการทำงานก็เรื่องหนึ่ง แต่ปัญหาใหญ่ของ กกต.ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์สำคัญนี้คือ การไม่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป