บทบรรณาธิการ : ไทยกับรถไฟลาว-จีน

Home » บทบรรณาธิการ : ไทยกับรถไฟลาว-จีน



คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ไทยกับรถไฟลาว-จีน

วันที่ 2 ธ.ค.นี้ จะเป็นอีกบาทก้าวสำคัญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศเพื่อนบ้าน ภาษาพูด และศิลปวัฒนธรรมประเพณีคล้ายคลึงกัน

นอกจากเป็นวันชาติลาวแล้ว ยังเป็นวันเปิดตัวความสำเร็จโครงการรถไฟลาว-จีน เส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ของลาว เชื่อมต่อจากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ตอนใต้จีน เข้าสู่ประเทศลาว สิ้นสุดที่นครหลวงเวียงจันทน์

เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนธ.ค.2559 ใช้เวลา 5 ปีเสร็จสมบูรณ์ ทั้งขบวนขนส่งสินค้า และขบวนผู้โดยสาร ระยะทาง 400 ก.ม.เศษ เฉพาะในดินแดนลาว

ความสำเร็จรถไฟลาว-จีน เป็นที่จับตามองของชาติร่วมภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะไทยที่เฝ้ารอรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมต่อกับลาวและจีนในอนาคต

จากนั้นวันที่ 3 ธ.ค. เปิดเดินขบวนรถอย่างเป็นทางการ ระยะเริ่มต้นเน้นขนส่งสินค้าเป็นหลัก ขบวนรถไฟรองรับน้ำหนักการขนส่งสินค้าได้ถึง 3 พันตัน และ 4 พันตันในระยะต่อมา

ส่วนการขนส่งผู้โดยสารจะรองลงมา เนื่องจากสถานการณ์โควิดในลาวทวีความรุนแรงเช่นกันจึงยังไม่เปิดชายแดนรับนักท่องเที่ยว และประชาชนเพื่อนบ้านข้ามไปมาหาสู่กัน

คาดการณ์ในอนาคตเมื่อโควิดคลี่คลาย ลาวเปิดชายแดน เปิดรับนักท่องเที่ยว จะส่งผลให้การท่องเที่ยว โดยเฉพาะภาคเหนือลาว ต่อเนื่องไปถึงจีนตอนใต้สะดวกสบายขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจรายได้เพิ่มขึ้น

คนไทยก็เช่นกัน เป็นชาติที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวลาวมากที่สุด ต่างรอคอยข้ามไปสัมผัสรถไฟลาว-จีน

แม้รถไฟความเร็วสูงของไทย จากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา และช่วงที่ 2 นครราชสีมาไปหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีน ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการ

แต่ระหว่างนี้ตั้งแต่ระดับรัฐบาล ภาคเศรษฐกิจ การขนส่งสินค้า และภาคส่งออกของไทย ต้องเร่งประสานความร่วมมือ เพื่อร่วมใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว-จีน

โดยเฉพาะการส่งสินค้าจากไทยกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของลาวตามเส้นทางรถไฟ และส่งต่อขึ้นไปยังตอนใต้ของจีน จะสะดวกรวดเร็วกว่าทางเรือแม่น้ำโขง หรือทางถนน และค่าใช้จ่ายถูกกว่าขนส่งเครื่องบิน

ดังนั้นไทยต้องเร่งหาความร่วมมือจากโครงการรถไฟลาว-จีน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ