รัฐบาลระดมทุกสิ่งอย่าง มุ่งมั่นปรารถนาจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นที่ชื่นชมและยอมรับในเวทีโลก
ที่ผ่านมารัฐบาลผลักดันเอเปคเป็นวาระแห่งชาติ เรียกร้องประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี ขอร้องอย่าชุมนุมก่อความวุ่นวายช่วงประชุมเอเปค ซึ่งจะมีไปถึงวันที่ 19 พ.ย.
พร้อมทั้งออกประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะ สั่งควบคุมพื้นที่จำนวนมากหลายแห่ง จัดกำลังตำรวจ 35,000 นาย และเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงอีกจำนวนมาก ตรึงพื้นที่ดูแลความปลอดภัย รักษาความสงบเรียบร้อย
จนเกิดคำถามว่านอกจากความมีหน้าตา การต้อนรับใหญ่โต อาหารสุดหรูเลี้ยงผู้นำชาติต่างๆ แล้ว ประชาชนจะได้อะไรจากการประชุมเอเปค
การประชุมเอเปคครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศความสำเร็จขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
โดยอ้างถึงการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร พลังงาน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ
รัฐบาลระบุเน้นย้ำหลักการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG คำนึงถึงการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการเยียวยารักษาธรรมชาติอย่างสมดุล มีความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันสุดท้ายของการประชุม จะเผยแพร่คำประกาศกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG เต็มไปด้วยข้อท้วงติงมากมาย เพราะอาจก่อผลกระทบกับประชาชน จนเกิดคำถามว่าเป็นนโยบายฟอกเขียวให้กลุ่มทุนต่างๆ หรือไม่
พร้อมข้อสังเกตด้วยว่านโยบายนี้ถูกผลักดันมาตั้งแต่ยุครัฐบาลคสช. ผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศ เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้แก่กลุ่มที่แนบแน่นกับเครือข่ายรัฐประหาร 2557
อาทิ การแก้กฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดิน การปลูกพืชจีเอ็มโอ พืชพื้นเมือง นโยบายด้านพลังงาน รวมถึงเปิดสัมปทานปลูกป่าให้เอกชน ขณะเดียวกันก็จับกุมดำเนินคดีขับไล่ประชาชนออกจากที่ดินทำกิน
เป็นข้อมูลคู่ขนานอีกด้าน ที่เครือข่ายภาคประชาชนส่งเสียงสะท้อนต่อสังคม และผู้นำประเทศสมาชิกเอเปค