สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พยายามชี้แจงกรณีหนังสือภาษาพาที แบบเรียนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
มีเนื้อหาระบุถึงการกินไข่ต้มครึ่งซีก เหยาะน้ำปลา ทำให้ตัวละครในหนังสือมีความสุข ถือเป็นความพอเพียง เห็นคุณค่าชีวิต ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงโภชนาการเด็ก ตลอดจนการมองโลกสวย หรือโรแมนติกเกินไปหรือไม่
สพฐ.อธิบายถึงหนังสือดังกล่าวจัดทำขึ้นสำหรับนักเรียนฝึกทักษะ สร้างนิสัยการอ่าน เขียน ฟัง ดู เนื้อหาสรุปเกี่ยวกับเด็กกำพร้าคิดดีทำดี อยู่อย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่ผู้ที่นำเรื่องนี้มาเผยแพร่อาจตีความเนื้อหาคลาดเคลื่อน
นั่นคือคำชี้แจงส่วนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเรื่องนี้กลายเป็นไวรัล และถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายกว้างขวางไปแล้ว
กรณีกินไข่ต้มครึ่งซีก เหยาะน้ำปลา เป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการถูกสังคม และไม่เว้นแม้แต่นักเรียนเองที่ตั้งคำถามมาตลอดเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ทางการศึกษา โดยเฉพาะกรอบความคิดของผู้บริหารการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแบบนักเรียน ที่มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยให้ยกเลิก ตลอดจนเรื่องกฎระเบียบทรงผมที่เคร่งครัดเกินไป จนนำไปสู่การกล้อนผม ล่วงละเมิดร่างกาย
หรือระบอบอำนาจนิยมในสถานศึกษาส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ การแสดงออกต่างๆ ของเด็ก หรือการบังคับยัดเยียดให้เด็กรักภูมิใจในชาติ ผ่านวิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นท่องจำ โฆษณาชวนเชื่อ
ทั้งหลายเหล่านี้ยังคงเป็นที่ถกเถียง และเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการศึกษาไทยมาโดยตลอด
สำหรับกรณีล่าสุดไข่ต้มกับน้ำปลา รมว.ศึกษาธิการระบุว่ายินดีรับฟังความคิดเห็น พร้อมมอบหมายให้สพฐ.ไปทบทวน ปรับใช้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าเรื่องโภชนาการเด็ก สุขศึกษา และความเหลื่อมล้ำต่างๆ
นับเป็นเรื่องดีที่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ แต่ทั้งหมดนี้สะท้อนตอกย้ำให้เห็นถึงระบบการศึกษาไทยที่มีปัญหา ถึงคราวแล้วที่ต้องปฏิวัติกันขนานใหญ่
อาทิ หลักสูตรการศึกษาต้องทันสมัย ทันโลก ไม่บังคับยัดเยียด พัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพ กฎระเบียบที่ไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน โรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย เหล่านี้เป็นต้น
ยิ่งระยะนี้อยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งอย่างเข้มข้น ดังนั้น นโยบายการศึกษาจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรคการเมืองนั้นๆ