คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ให้เกียรติประชาชน
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทำให้ภาคการเมืองเริ่มแสดงท่าทีอย่างชัดเจนแล้วระหว่าง “รับ” กับ “ไม่รับ” สมาชิกวุฒิสภาหลายคนต่อต้านชัดเจน แม้ว่าส.ว.ไม่ได้มาจากประชาชนเลยแม้แต่คนเดียว อีกทั้งยังมาจากการแต่งตั้งในช่วงรัฐประหาร
การต่อต้านดังกล่าวจึงเป็นที่เข้าใจได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเมื่อร่างแก้ไขดังกล่าวตัดทิ้งการดำรงอยู่วุฒิสภาออกไปทั้งหมด
ส.ว.บางคนยังแสดงความเข้าใจไปเองว่า สถานการณ์การเมืองที่มีผู้ออกมาชุมนุมเลวร้ายกว่าที่คิด อีกทั้งยึดติดกับความเชื่อเดิมที่ไร้ข้อพิสูจน์ว่ามีนักการเมืองและคนที่พัวพันทางการเมืองโยงอยู่เบื้องหลัง
ยิ่งตอกย้ำว่ากลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันจากการรัฐประหารเป็นเรื่องทำได้ยากยิ่ง
ด้านพรรคการเมืองฝ่ายค้านแถลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าควรรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วาระที่ 1
อีกทั้งยังวิงวอนส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว. รับหลักการวาระที่ 1 ด้วย เพื่อแสดงถึงการให้เกียรติประชาชน เล็งเห็นความสำคัญของร่างกฎหมายโดยภาคประชาชนที่กว่าจะรวมชื่อกันได้นับแสนใช้เวลาหลายเดือน
ข้อเรียกร้อง “ให้เกียรติกับประชาชน” นับเป็นถ้อยคำที่สำคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการสมานฉันท์
หากทั้ง ส.ส. รวมถึง ส.ว. คำนึงถึงการให้เกียรติกับประชาชน สถานการณ์ความขัดแย้งทาง การเมืองจะลดความตึงเครียดลงได้ และเปิดทางให้สู่การประนีประนอม
ดีกว่าการดึงดันกล่าวหาให้ร้ายว่าประชาชนหรือเยาวชนถูกยุยง ชักใยด้วยความคิดที่ล้าสมัย
ตัวอย่างเมื่อไม่นานนี้ที่แสดงถึงการให้เกียรติประชาชน คือการที่สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยส่งตัวแทนมารอรับหนังสือจากผู้ชุมนุมบริเวณด้านหน้าสถานทูต
มีเสียงชื่นชมว่านี่เป็นการกระทำของผู้ที่มาจากประเทศที่เจริญแล้ว ด้วยความตระหนักว่าทุกเสียงมีคุณค่า
อีกทั้งยังแสดงความห่วงใยในสถานการณ์การชุมนุมที่มีผู้บาดเจ็บ
การแสดงออกเพียงเล็กน้อยเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีความหมายถึงการให้เกียรติและเคารพประชาชน ที่คนไทยพึงหวังจากคนไทยเช่นกัน