บทบรรณาธิการ – โพลยุบสภา

Home » บทบรรณาธิการ – โพลยุบสภา


บทบรรณาธิการ – โพลยุบสภา

จากสถานการณ์ส.ส.ลาออก ย้ายพรรคเป็นจำนวนมาก จนน่าหวาดหวั่นต่อจากนี้สภาผู้แทนราษฎรจะเกิดปัญหาองค์ประชุม จนทำให้เดินหน้าต่อยากลำบาก แม้ประธานสภา จะยืนยัน ส.ส.ที่ลดจำนวนลงเหลือเพียง 439 คน ยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ และไม่มีผลกดดันให้ต้องยุบสภา แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นเช่นนั้น

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของนิด้าโพลวันอาทิตย์ที่ผ่านมาสะท้อนว่า ประชาชนเสียงส่วนใหญ่โหยหาการเลือกตั้งครั้งใหม่ ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยุบสภาโดยเร็วแม้จะยังเหลือวาระอีก 3 เดือนก็ตาม

มากถึงร้อยละ 43.13 ระบุชัด นายกฯ ควรประกาศยุบสภา ภายในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่เกิน 10 วัน ขณะที่อีกร้อยละ 12.37 เห็นว่าควรประกาศยุบสภาภายในเดือนมกราคม 2566

เหตุผลหลักที่เห็นว่านายกฯ ควรยุบสภาโดยเร็วมาจากคำถามถึงความพึงพอใจต่อการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือส.ส.ในรอบเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา

คำตอบร้อยละ 31.98 ระบุ ไม่ค่อยพอใจ เพราะการประชุมส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการทะเลาะกัน และส.ส.ที่เข้าร่วมประชุมมีจำนวนน้อย ขณะที่อีกร้อยละ 25.96 ระบุ ไม่พอใจเลย เพราะสภาล่มบ่อยครั้ง และการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ มีเพียงร้อยละ 9.77 ที่พอใจ เพราะตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน และการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ สำเร็จลุล่วง

ขณะที่ฟากฝั่งนักการเมือง พรรคการเมือง ต่างก็เคลื่อนไหวเตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาเมื่อใด ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์

หรือจะลากยาวไปจนครบวาระ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งก็อีกแค่ 3 เดือน

ประชาชนมากกว่าครึ่งต้องการให้ยุบสภาโดยเร็ว แต่ก็ต้องรอดูผู้มีอำนาจจะตัดสินใจอย่างไร รับฟังเสียงความต้องการของประชาชน หรือยึดความต้องการของฝ่ายการเมืองเป็นหลัก รวมถึงพรรคตั้งใหม่ที่ตนเองเตรียมย้ายไปสังกัด เพื่อกลับมาครองอำนาจอีกสมัย

สภาพการณ์ประชาชนเบื่อหน่ายสภา และรัฐบาลชุดนี้เต็มทน อยากเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว แต่หากให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ กกต.กำหนดกรณีสภาอยู่ครบวาระ จะมีการเลือกตั้ง 7 พฤษภาคม 2566 ก็ไม่มีปัญหา เพราะเชื่อว่าประชาชนตัดสินใจไว้แล้วว่าเมื่อถึงเวลาจะเลือกใคร ไม่เลือกใครเป็นรัฐบาลและผู้นำคนใหม่

แต่ข้อสงสัยคือผู้มีอำนาจมั่นใจได้อย่างไรว่า การอยู่มา 8 ปีกว่า แลกกับความพยายามลากยาวออกไปอีกไม่กี่เดือน จะทำให้คะแนนนิยมกระเตื้องขึ้น

ในความเป็นจริงน่าจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะถ้าประชาชนส่วนใหญ่อยากให้ “กลับมา” ก็คงไม่เรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว อย่างที่ปรากฏผ่านผลสำรวจโพล

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ