บทบรรณาธิการ – โพลผู้ว่าฯ กทม.

Home » บทบรรณาธิการ – โพลผู้ว่าฯ กทม.


บทบรรณาธิการ – โพลผู้ว่าฯ กทม.

สํานักสำรวจความคิดเห็นความนิยมของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลายแห่งสุ่มสอบถามอย่างต่อเนื่อง หลังผู้สมัคร ได้หมายเลขประจำตัว และออกหาเสียงก็ยิ่งมีความคึกคักเป็นพิเศษ
ล่าสุด ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำรวจ “ปัจจัยในการชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” จากผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิเลือกตั้งกระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ จำนวน 1,325 หน่วยตัวอย่าง

พบว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุด ได้แก่ นโยบายของ ผู้สมัคร 44.75% คุณสมบัติชื่อเสียงส่วนตัว 28.91% ฐานเสียงจัดตั้ง 9.36% อิทธิพลของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่สนับสนุน 6.19% กลยุทธ์และแนวทางการหาเสียง 6.04%
สถานการณ์การเมืองระดับชาติมีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่นั้น พบว่าอย่างมาก 31.25% ไม่ส่งผลเลย 30.41% ค่อนข้างส่งผล 24.38% และไม่ส่งผลเลย 13.96%

ขณะเดียวกันสำนักวิจัยซูเปอร์โพล สำรวจการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งนี้ เปรียบเทียบระหว่างครั้งแรกและครั้งที่สอง หลังลงสมัครรับเลือกตั้ง อย่างเป็นทางการแล้ว
พบว่าแนวโน้มคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นทุกคน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังคงนำเพิ่มจากร้อยละ 20.3 ในครั้งที่ 1 เป็นร้อยละ 24.5 ในครั้งที่ 2, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.8 ในครั้งที่ 1 มาเป็น ร้อยละ 13.9 ในครั้งที่ 2

ที่น่าสนใจยังพบว่าผลพวงจากกรณีปริญญ์เอฟเฟ็กต์ ทำให้นายสกลธี ภัททิยกุล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.7 ในครั้งที่ 1 มาเป็นร้อยละ 10.1 ในการสำรวจครั้งล่าสุด และขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3
ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 7.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.8, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.5
นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มคนไม่ตัดสินใจเลือกใครลดลงจากร้อยละ 48.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 28.7 ด้วย แต่ก็ยังเป็นเสียงที่เป็นตัวแปรอย่างน่าจับตา

นับตั้งแต่จากนี้ไป ยังเหลือเวลาหาเสียงและนำเสนอนโยบายอีกกว่า 1 เดือน ซึ่งสถานการณ์และตัวแปรอาจจะมีความพลิกผันได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกัน
ขึ้นอยู่กับผู้สมัครและทีมงานลงพื้นที่ได้ครบทุกชุมชนครอบคลุมทั้ง 50 เขตหรือไม่ รวมถึงอธิบายโน้มน้าวให้เห็นด้วยกับแนวนโยบายได้อย่างไร
การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกหลังจากห่างหายไป 9 ปี คนกทม.ควรต้องออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด
เพื่อยืนยันกับผู้มีอำนาจว่า ประชาชนต้องการเลือกตั้งเอง ไม่ใช่ให้คนกลุ่มหนึ่ง มากำหนดให้ใครมาเป็นผู้ว่าฯ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ