บทบรรณาธิการ – โทษจำนำข้าว

Home » บทบรรณาธิการ – โทษจำนำข้าว



โครงการจำนำข้าวยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2554 ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566

โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อภิปรายชี้แจงถึงงบลงทุนที่ลดลง และอ้างถึงจำนำข้าวขาดทุนไปแล้วกว่า 9.5 แสนล้าน ทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบชำระหนี้ไปแล้ว 7.8 แสนล้าน คงเหลือเงินต้นและดอกเบี้ยอีก 3 แสนล้าน

ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์โพสต์ตอบโต้ว่าการจัดทำงบฯ ที่ขาดดุลมากขึ้นทุกปี หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ประชาชนไม่มีรายได้เพิ่ม หนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอ จึงเป็นเหตุทำให้ไม่สามารถลดการขาดดุลงบประมาณ

พร้อมกับตั้งคำถามการที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เป็นเพราะโครงการรับจำนำข้าว หรือบริหารงานไม่เป็น

สำหรับโครงการจำนำข้าวเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เมื่อได้เป็นรัฐบาลจึงนำไปปฏิบัติ โดยรับจำนำข้าวทุกเม็ด ตันละ 15,000 บาท

ได้รับเสียงชื่นชมจากชาวนา เพราะได้รับเงินอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้จะสุ่มเสี่ยงให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น

โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้าม และกลุ่มอนุรักษนิยมทางการเมือง นอกจากต่อต้านแล้วยังหวั่นเกรงหากโครงการดำเนินต่อไปจะสูญเสียคะแนนความนิยม และส่งผลต่อการเลือกตั้งในอนาคต

จำนำข้าวจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถูกนำมาอ้างปลุกให้ประชาชนอีกฝั่งหนึ่งออกมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2556-57

แต่น่าเสียดายเพราะถูกตัดตอนเสียก่อน โครงการจำนำข้าวจะดีหรือไม่ดี จะชอบหรือไม่ชอบ กลับไม่ได้ถูกตัดสินผ่านฉันทามติของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

กลุ่มตรงข้ามและเครือข่ายผลักดันให้สถานการณ์ประเทศไปสู่ทางตัน ทั้งที่ยุบสภาและประกาศเลือกตั้งแล้ว จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร พ.ค.2557 และใช้อำนาจรัฐประหารนำไปสู่การสอบสวนเอาผิดรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ

รัฐประหารผ่านมา 8 ปี สังคมต่างรับทราบกันดีถึงสภาพเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาโรคระบาดที่ล่าช้าผิดพลาด การจัดทำงบฯ ที่เหลื่อมล้ำ ขาดดุลมากขึ้น ให้ความสำคัญกับกองทัพ การจัดซื้ออาวุธ มากกว่ารายได้ และค่าครองชีพประชาชน

ดังนั้น คำถามที่ว่าเพราะโครงการจำนำข้าว หรือบริหารงานไม่เป็น เชื่อว่าประชาชนที่ยากลำบากอยู่ในขณะนี้ย่อมพินิจพิเคราะห์ได้

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ