กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุหลังเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น เนื่องจากมีการเดินทางเคลื่อนย้ายของประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศ
เกิดการรวมกลุ่มพบปะญาติพี่น้องในครอบครัว และตามภูมิลำเนาจังหวัดต่างๆ ทำให้เกิดกิจกรรมสังสรรค์ ดื่มกินเฉลิมฉลอง ย่อมสุ่มเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
จึงทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ป่วยปอดอักเสบ และต้องใส่ท่อช่วยหายใจก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ที่ต้องเฝ้าระวังคือ เชื้อโควิดตระกูลโอมิครอน สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 พบมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจเป็นสายพันธุ์หลักต่อไป
กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.16 เพิ่มขึ้นทั่วโลก ล่าสุดพบเชื้อนี้แล้วใน 22 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินเดีย และเป็นที่เฝ้าระวังขององค์การอนามัยโลก
ความพิเศษของเชื้อดังกล่าวแพร่ติดต่อได้เร็ว หลบหลีกภูมิต้านทาน และวัคซีนได้ดี ซึ่งฐานข้อมูลจากโครงการริเริ่มการแบ่งปันฐานข้อมูลเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก (GISAID) รายงานว่ามีคนไทยติดเชื้อสายพันธุ์นี้แล้ว 6 ราย จากทั่วโลกเกือบ 3,000 ราย
แม้กระทรวงสาธารณสุขจะยืนยันไม่พบอาการรุนแรงเพิ่ม แต่ข้อมูลอีกด้านจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางรายกลับแสดงความกังวล เนื่องจากประเทศไทยยังมีปัจจัยเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจดังที่ทราบกันดี
ดังนั้น จึงหวั่นเกรงจะเป็นปัจจัยผสมโรงทำให้เชื้อธรรมดากลับมีความรุนแรง หรือดุร้ายมากขึ้นได้
สำหรับการรับมือสถานการณ์โควิดหลังสงกรานต์ กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้คร่าวๆ 3 มาตรการ คือปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแบบประจำปี ควบคู่กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เริ่มเดือนพ.ค.2566 จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต
รณรงค์สวมหน้ากากในที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกิจกรรม หรือไปสถานที่ที่มีกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคประจำตัวเรื้อรัง ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยง
รวมถึงกรณีตรวจเอทีเค ให้ตรวจเมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ หากผลเป็นบวกติดเชื้อ ก็ให้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับผู้อื่น และถ้าอาการหนักให้รีบพบแพทย์
มาตรการเหล่านี้เชื่อว่าประชาชนทุกคนรับทราบกันอยู่แล้ว เพราะผ่านประสบการณ์เป็นอย่างดีจากช่วงวิกฤตก่อนหน้านี้ แต่ประการสำคัญคือ รัฐต้องสำรองยา เวชภัณฑ์ เตียงโรงพยาบาลรองรับให้เพียงพอ รวมถึงระบบเข้าถึงการรักษาที่สะดวกรวดเร็วด้วย