บทบรรณาธิการ – แอบแฝงซ่อนเร้น 

Home » บทบรรณาธิการ – แอบแฝงซ่อนเร้น 


บทบรรณาธิการ – แอบแฝงซ่อนเร้น 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีอันต้องยุติกลางคัน

เมื่อส.ส.รัฐบาลร่วมลงชื่อ 100 คน ยื่นประธานสภา ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การตราพ.ร.ก.เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

มาตราดังกล่าวกำหนดว่าการตราพ.ร.ก.จะกระทำได้ต้องในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

ดังนั้น ตราบใดที่พ.ร.ก.ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากสภา หรือยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผลบังคับใช้ของพ.ร.ก.ยังมีอยู่ตลอด

สำหรับพ.ร.ก.เสนอโดยรัฐบาล เพื่อเลื่อนบังคับใช้มาตรา 22-25 ของพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มสูญหาย ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.2566 ซึ่ง 4 มาตราถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับการจับกุมคุมขัง การปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน

รัฐบาลอ้างเหตุจำเป็นเรื่องความพร้อมของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ อุปกรณ์สำหรับการบันทึกระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว โดยเฉพาะกล้องติดตามตัวเจ้าหน้าที่

แต่ภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ต่างไม่เห็นด้วย เป็นข้ออ้างไม่เป็นเหตุเป็นผล อีกทั้งรัฐบาลก็รับทราบมานานแล้วว่าพ.ร.บ.จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ แล้วทำไมไม่จัดเตรียมอุปกรณ์ และอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อม

เช่นเดียวกับพรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันจะลงมติคว่ำพ.ร.ก.

ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตทำไมรัฐบาลถึงต้องเร่งออกพ.ร.ก.ในช่วงสภาใกล้ปิดสมัยประชุม และกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศ หรืออาจมีสิ่งแอบแฝงซ่อนเร้นหรือไม่

โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง การใช้อำนาจรัฐควบคุมตัวบุคคลต่างๆ หรือการสกัดกั้น เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองฝ่ายเดียวกัน

เช่นเดียวกับภาคส่วนอื่นๆ ต่างวิตกกังวล ไม่ว่าประชาชนธรรมดา นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงพลเรือนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีปัญหาถูกละเมิดรุนแรง

จึงเป็นห่วงว่าระหว่างที่ยืดบังคับใช้พ.ร.บ. หากเกิดกรณีซ้อมทรมานและอุ้มหาย แล้วใครจะรับผิดชอบ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ