บทบรรณาธิการ : เลือกผู้ว่าฯ กทม.

Home » บทบรรณาธิการ : เลือกผู้ว่าฯ กทม.


บทบรรณาธิการ : เลือกผู้ว่าฯ กทม.

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เลือกผู้ว่าฯ กทม.

มีเสียงเรียกร้องและความคึกคักเป็นอย่างสูง สมควรได้แล้วที่ประชาชนกรุงเทพมหานครจะได้เลือกผู้ว่าราชการคนใหม่ มาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เมืองหลวงของประเทศ

ตามวาระดำรงตำแหน่งของผู้ว่าฯ กทม.คนก่อนที่มาจากการเลือกตั้ง ควรเริ่มได้แล้วตั้งแต่ปี 2560 แต่ต้องหยุดชะงัก ถูกแช่แข็งจากคณะรัฐประหาร แล้วแต่งตั้งคณะบุคคลเข้ามาบริหารแทนนานเกือบ 5 ปี

แม้ล่าสุดนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณจะมีขึ้นกลางปี 2565 แต่หลายฝ่ายทักท้วงช้าเกินไป โดยเห็นว่าเดือนก.พ.-มี.ค.2565 น่าจะดีที่สุด เพราะขณะนี้หลายพรรคการเมือง และผู้สมัครอิสระ รวมถึงชาวกรุงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต่างมีความพร้อมแล้ว

จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุที่ต้องลากไปถึงกลางปี เพราะความไม่พร้อมของพรรคแกนนำรัฐบาลหรือไม่

กรุงเทพฯ มีประชากรมากที่สุดของประเทศ ประมาณ 10 ล้านคน ทั้งที่ขึ้นและไม่ขึ้นทะเบียนราษฎร เป็นศูนย์กลางแทบทุกด้าน เป็นสังคมเมืองที่มีความสลับซับซ้อน

เต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ มากมาย ที่ต้องบริหารจัดการและแก้ไข อาทิ การจราจร สิ่งแวดล้อม ขยะมูลฝอย มลพิษ น้ำเสีย น้ำท่วม การคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

อีกทั้งมีงบประมาณมหาศาล โดยเฉพาะรายได้จากการจัดเก็บภาษี ทั้งจากร้านค้า ตลาด โรงงานต่างๆ เป็นต้น รวมถึงยังมีเจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้างอีกจำนวนมากที่ต้องดูแล

ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งจึงมีความจำเป็น

นับตั้งแต่รัฐบาลคณะรัฐประหารยอมให้จัดการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็สำเร็จลุล่วงมา ด้วยดี แม้เต็มไปด้วยครหาการคำนวณสูตรส.ส.

จากนั้นจัดเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาอบจ.ทั่วประเทศ ต่อด้วยการเลือกตั้งระดับเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ต่างสำเร็จด้วยดีเช่นกัน

แม้มีเรื่องร้องเรียนทุจริตเลือกตั้ง แต่ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล ที่กกต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินคดี ตัดสิทธิ์ และจัดเลือกตั้งใหม่ ลำดับต่อไปคือเทศบาลเมืองพัทยา ผู้ว่าฯ กทม. สมาชิกสภากทม. และสมาชิกสภาเขต

ถึงเวลาแล้วที่ต้องขยับให้เร็วขึ้น และก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอต้องยื้อไปถึงกลางปี หรือต้องรอให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเสียก่อน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ