บทบรรณาธิการ : เพื่อความเท่าเทียม

Home » บทบรรณาธิการ : เพื่อความเท่าเทียม


บทบรรณาธิการ : เพื่อความเท่าเทียม

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เพื่อความเท่าเทียม

ความไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมโลก รวมถึงสังคมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

การยกตัวอย่างของนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยทางวิ่งรถยนต์ของประชาชนต่างฐานะเพื่อให้เห็นถึงความเท่าเทียม จึงเป็นเรื่องที่ผู้คนพูดถึงและวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ไม่เช่นนั้นจะแก้ปัญหาไม่ถูกจุด หรือไม่ได้แก้ปัญหาเลย

กรณีนายกฯ เอ่ยถึงการขับรถว่า คนรวยขึ้นไปวิ่งทางด่วน ส่วนคนจนวิ่งถนนด้านล่าง มีคำชี้แจงแล้วว่า ไม่ได้แบ่งแยกฐานะ หรือซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ หากใครเข้าใจไปเช่นนั้นแสดงว่า ตีความผิด

กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อ ว่าฝ่ายใดกันแน่ที่ตีความเรื่องความเท่าเทียม ไม่ถูกต้อง

รัฐบาลอธิบายว่าดำเนินนโยบายต่างๆ ที่สร้างความเสมอภาคให้ทุกคน ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร ต้องมีโอกาสเท่ากัน เข้าถึงบริการของภาครัฐและสาธารณูปโภคพื้นฐานเหมือนกัน

คำอธิบายนี้ตรงตามหลักการคำว่าความเท่าเทียม ซึ่งหมายถึงการทำให้ทุกคนมีโอกาสที่ จะใช้ชีวิตและความสามารถอย่างเท่าเทียมกัน แม้ว่าจะเกิดหรือเติบโตมาแตกต่างกัน

ในทางปฏิบัติ ผลงานของภาครัฐที่แสดงถึงการสร้างโอกาสความเท่าเทียมเช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหมู่บ้าน จึงเป็นเรื่องที่ชัดเจนกว่าการสร้างทางด่วนเพื่อระบายความแออัดของการจราจร

เพราะการเข้าถึงโอกาสเป็นตัวชี้วัดความเท่าเทียมนั้นๆ

การสร้างโอกาสให้เกิดความเท่าเทียมโดยรัฐของนานาประเทศ มีทั้งแนวทางที่เป็นสังคมนิยมและประชาธิปไตย

เพราะพื้นฐานการสร้างโอกาสนี้ไม่ใช่การสงเคราะห์ หรือการทำบุญ แต่ต้องมาจากความเห็นชอบร่วมกันของประชาชน ที่ต้องการแบ่งปันทรัพยากร ยึดความเป็นธรรม และมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์

โดยเฉพาะเมื่อระบบทุนนิยมผูกขาดเศรษฐกิจขยายตัว การสร้างสมดุลให้เกิดความเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ

ต้องอาศัยกลไกทางการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม

ไม่ใช่กีดกันกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐบาลออกไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ