คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
เที่ยวเหลื่อมล้ำ
ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ภาพรวมว่า วันหยุดราชการประจำปี 2565 จะมีจำนวน 19 วัน
โดยให้เพิ่มวันหยุดพิเศษอีก 4 วันเพื่อให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันในแต่ละช่วงเพื่อเชื่อมโยงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ซึ่งรวมแล้วจะได้หยุดยาว 4 วันติดกัน 3 ช่วง และติดกัน 5 วันอีกหนึ่งช่วง
ครม.แจ้งชัดว่าต้องการการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
หลังจากปี 2564 ภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเดิมไม่คาดคิดว่าจะหนักซ้ำมากกว่าหรือเท่ากับปี 2563
แม้จะเริ่มเปิดประเทศช่วงท้ายปีก็เป็นช่วงเวลาที่กล้าๆ กลัวๆ ว่าโรคระบาดจะหวนกลับมาอีก
หากดูจากสถานการณ์ในยุโรปขณะนี้ สถิติการระบาดของโควิด-19 กลับมามีตัวเลขสูงอีก ถึงขั้นมีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลก
เนื่องจากการรับวัคซีนไม่เพียงพอทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และอาจมี ผู้เสียชีวิตอีก 5 แสนรายภายในเดือนก.พ.2565
ฉะนั้นความคาดหวังว่านักท่องเที่ยวจากชาติยุโรปจะกลับมาอีกครั้งอาจไม่เป็นดังหวัง เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวจีนที่ยังมีความระมัดระวังสูงมาก
กรณีที่การททท. มุ่งปรับสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวจากคนไทยให้เพิ่มขึ้นเพื่อเข้ามาทดแทน จากร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมดช่วงสองปีมานี้ เป็นร้อยละ 40-60 หรือร้อยละ 50-55 ก็ยังนึกภาพไม่ออกนัก
แม้ว่ารัฐบาลเพิ่มวันหยุดให้แล้วในปีหน้า
เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังทำให้หลายคนและหลายครอบครัวอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก
จำนวนคนตกงานเกิน 6 แสนคน และการคาดการณ์เชิงลบถึงช่วงสิ้นปีว่าอาจถึง 1 ล้านคน บวกกับสภาพหนี้สินครัวเรือนที่มียอดคงค้างเกิน 14 ล้านล้านบาท ไม่เอื้อให้กับบรรยากาศการท่องเที่ยวเลย
คนที่พอจะเที่ยวได้คือกลุ่มคนที่พอมีเงินเก็บและมีฐานะอยู่รอดจากสถานการณ์โควิด อาจเป็นคนที่ใช้สิทธิในโครงการคนละครึ่งราว 25.83 ล้านรายในช่วงระยะที่ 3 แต่คงไม่มีกลุ่มชาวนาที่ขายข้าวได้กิโลกรัมละ 5-6 บาท
การท่องเที่ยวจึงอาจเป็นตัวสะท้อนความเหลื่อมล้ำอีกทางหนึ่ง