คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
เด็กรู้คิด
ช่วงปลายปีแต่ละปีเหมือนเป็นธรรมเนียมว่าผู้นำประเทศจะต้องมอบคำขวัญให้กับเด็ก เพราะวันเด็กแห่งชาติจะอยู่ช่วงเริ่มต้นปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
แม้จะเคยมีการถกเถียงในสังคมว่า ผู้นำประเทศควรจะเป็นผู้ให้คำขวัญกับเด็กๆ ต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อความหมายคำว่า “เด็กดี” ยังตีความไม่ตรงกัน
เด็กดีในสายตาผู้ใหญ่สายอนุรักษนิยม มักหมายถึงเด็กที่เชื่อฟังคำสั่งผู้ใหญ่ อยู่ในกรอบประเพณี ควบคุมพฤติกรรมได้ง่าย ผู้ใหญ่จะได้ไม่ถูกตั้งคำถาม หรือถูกตรวจสอบ
แต่ในมุมมองของผู้ใหญ่สายเสรีนิยม เด็กดีอาจหมายถึงเด็กที่คิดพัฒนาตัวเองและสังคมร่วมกัน มีความเป็นประชาธิปไตย
คำขวัญวันเด็กจึงสะท้อนความเห็นและความคิดของผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
คําขวัญวันเด็ก ประจำปี 2565 ตรงกับวันที่ 8 มกราคม 2565 ที่เพิ่งเผยแพร่ไม่นานมานี้คือ “รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม”
นายกรัฐมนตรีระบุว่า มอบให้เพื่อเป็นข้อคิดคติเตือนใจ แก่เด็กๆ เยาวชนไทย ในฐานะอนาคต ของชาติ
หากมองในทางกลับกัน เด็กๆ และเยาวชนไทยอาจต้องการแสดงความเห็นกลับไปสู่รัฐบาล ผู้แทนในสภา รวมถึงผู้นำประเทศ ในหลายเรื่อง ที่เป็นอนาคตของพวกเขา
ช่องทางการสื่อสารนี้กลับไม่มีในวันเด็ก หรือแม้แต่วันธรรมดาทั่วไป
เด็กและเยาวชนที่อยากส่งเสียงเรียกร้องและเป็นมากกว่าคำขวัญ กลับถูกกล่าวหาว่าสร้างความวุ่นวาย สร้างความเสียหาย ไปจนถึงทำผิดกฎหมาย ตั้งแต่สถานเบาไปจนถึงกฎหมายร้ายแรง
แม้รัฐบาลมีแนวทางที่จะส่งเสริมเยาวชน หรืออยากพลิกโฉมประเทศไทยที่ต้องอาศัยเด็กและเยาวชนเป็นฐานสำคัญ
แต่เห็นได้ว่าแนวทางต่างๆ นั้นกลับตีกรอบด้วยความต้องการของผู้ใหญ่ อยู่ภายใต้ระบบราชการ เน้นการออกคำสั่งให้ปฏิบัติตาม ยกย่องเฉพาะเยาวชนที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ
ขณะเดียวกัน รัฐพยายามควบคุมให้เด็กเป็นอย่างที่ตนเองต้องการ
คำขวัญ “รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม” เป็นอีกคำขวัญที่ตีความได้ยากตั้งแต่คำว่า รู้คิด
เพราะเมื่อเด็กคิดแต่ถูกห้ามแสดงความคิด ก็ไม่มีทางให้รู้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว