นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนพ.ค.2565 พบว่าอยู่ที่ 7.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่เดือนก่อนหน้าเม.ย.2565 อยู่ที่ 4.65%
อธิบายได้ว่า สาเหตุเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพราะราคากลุ่มสินค้าพลังงานสูงขึ้น 37.24% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 35.89%, ค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 45.43% ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) รอบเดือนพ.ค-ส.ค.2565, ก๊าซหุงต้มสูงขึ้น 8% จากการทยอยปรับตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
รวมทั้งราคาอาหารก็ปรับสูงขึ้น 6.18% อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ตามราคาต้นทุนการเลี้ยง
ในเดือนพ.ค. สินค้าปรับราคาเพิ่มขึ้น 298 รายการ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา น้ำมันเชื้อเพลิง ข้าวแกง อาหารตามสั่ง เพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบ น้ำมันพืชราคาเพิ่มขึ้น 32.18% ทำให้ราคาอาหารสำเร็จรูปทำกินเองในบ้านเพิ่ม 6.84% และอาหารตามสั่งหรืออาหารเดลิเวอรี่สูงขึ้น 6.28% รวมถึงสินค้ากลุ่มของใช้ก็ปรับราคาเพิ่มขึ้น อาทิ แชมพู ยาสีฟัน สบู่
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อช่วงไตรสมาส 2, 3 และ 4 คาดว่าจะสูงกว่า 4.75% ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยช่วงไตรมาส 1 โดยช่วงไตรมาส 3 จะเพิ่มสูงขึ้นอีกตามราคาน้ำมัน ทั้งปีคาดว่าจะอยู่ในอัตราไม่เกิน 6-7%
ส่วนเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.คาดว่าจะปรับสูงขึ้นอีก เพราะราคาดีเซล ราคาก๊าซ และราคาสินค้า ยังปรับขึ้นต่อเนื่อง
ล่าสุด ที่ประชุม กบน.มีมติปรับขึ้นดีเซล อีก 1 บาทต่อลิตร เป็น 33.94 บาทต่อลิตร โดยมีแนวโน้มจะพุ่งแตะ 35 บาทต่อลิตรในเร็ววันนี้ ปัญหาเงินเฟ้อไม่จบง่ายๆ แน่
รัฐบาลไทยมักอ้างว่าเงินเฟ้อเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลก สาเหตุจากโรคระบาดและสงคราม ซึ่งเป็นปัจจัยเหนือการควบคุม
แต่อีกมุมหนึ่งมีการมองว่า หลายประเทศทั่วโลกเกิดปัญหาเงินเฟ้อ แต่ผลกระทบที่ส่งต่อไปยังประชาชน รุนแรงมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับฝีมือผู้นำและรัฐบาลประเทศนั้นๆ
สำหรับคนไทยได้แต่รอฟังแถลงแต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือนว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเท่าไร น้ำมัน สินค้า ค่าครองชีพจะขยับสูงต่อเนื่องไปจนถึงเมื่อใด
โดยที่รัฐบาลไม่เพียงแต่บอกตัวเลขเท่านั้น แต่ควรต้องมีนโยบายต่อการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอน ต้องแถลงออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ทั่วกัน