โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนของกองทัพเรือไทยยังคาราคาซังไม่ลุล่วง ปัญหาใหญ่สุดคือยังไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ดีเซลมาติดตั้งในเรือดำน้ำได้
ในสัญญาระบุต้องเป็นเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนี แต่จีนไม่สามารถจัดซื้อจัดหาได้ เนื่องจากเยอรมนีระงับส่งออกเครื่องยนต์เรือดำน้ำ เพราะเป็นสินค้าควบคุม
ล่าสุดกองทัพเรือเปิดเผยความคืบหน้าการเจรจากับบริษัทขายอาวุธที่รัฐบาลจีนถือหุ้นใหญ่ ว่ามีการเสนอเครื่องยนต์ดีเซล CHD 620 ของจีน แทนเครื่องยนต์เยอรมนี
ท่ามกลางข้อกังวลเป็นการลดสเป๊ก หรือไม่ เพราะคุณภาพแตกต่างกัน ทั้งยังไม่เป็นไปตามสัญญาและข้อตกลงเดิม
กองทัพเรือชี้แจงว่าจีนยังคงยืนยันที่จะเสนอเครื่องยนต์ดีเซล CHD 620 พร้อมส่งข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมมาให้พิจารณา กองทัพเรือจึงมอบหมายให้คณะทำงานด้านเทคนิคไปพิจารณารายละเอียดด้านเทคนิค
จากนั้นกำหนดให้ส่งข้อมูลการพิจารณาให้ทราบภายในวันที่ 15 ก.ย. เพื่อนำผลการพิจารณามาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจต่อไป
พร้อมระบุด้วยว่างบที่กองทัพเรือได้รับจะถูกใช้อย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ แม้โครงการจัดหาเรือดำน้ำอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ก็จะพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด ด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้
จากนี้ต้องติดตามต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วกองทัพเรือและรัฐบาลจะยินยอมให้ฝ่ายจีนเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำหรือไม่
แต่ระหว่างนี้มีข้อท้วงติงมากมาย เพราะเครื่องยนต์เรือดำน้ำถือเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญต่อชีวิตกำลังพล เครื่องเยอรมนีผ่านการพิสูจน์มาแล้วมีคุณภาพ ส่วนของจีนที่นำเสนอ มานั้นยังเป็นคำถามว่าดีกว่า หรือเทียบเท่า แล้ว กองทัพเรือไทยจะเป็นหนูทดลองหรือไม่
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รวมถึง พล.ร.อ. สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. ต่างยืนยันต้องใช้เครื่องยนต์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา
ตามสัญญาในปี 2566 จีนจะต้องส่งเรือดำน้ำลำแรกให้ไทย จากทั้งหมด 3 ลำ เฉลี่ยลำละ กว่าหมื่นล้านบาท และการที่ยังหาเครื่องยนต์ติดตั้งไม่ได้จะส่งผลให้โครงการล่าช้าออกไปอีกแน่นอน
สำคัญกว่านั้นจะกระทบกับงบประมาณ เงินภาษีประชาชนหรือไม่ รวมถึงเวลาโอกาสที่สูญเสียไปด้วย แล้วจะรับผิดชอบกันอย่างไร