บทบรรณาธิการ – เกณฑ์วัดคนจน

Home » บทบรรณาธิการ – เกณฑ์วัดคนจน



รัฐบาลสรุปอีกครั้งถึงจำนวนประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. รวม 22,293,473 คน

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบสถานะ หากผ่านก็ให้รอประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติในช่วงเดือนม.ค.2566 สาเหตุที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติและสถานะ เพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย

พร้อมชี้แจงถึงกรณีหลายฝ่ายร่วมตั้งข้อสังเกตจำนวนผู้ลงทะเบียนมากกว่าปี 2564 กว่า 10 ล้านคน นั่นหมายความว่าจำนวนคนจนเพิ่มมากขึ้นใช่หรือไม่

แต่รัฐบาลย้ำว่าผู้ลงทะเบียนกว่า 22 ล้านคน ไม่ใช่จำนวนคนจนทั้งหมดในประเทศไทย

สำหรับเกณฑ์ชี้วัดความจนนั้น รัฐบาลอ้างถึงข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 มีคนจนอยู่ที่ 4,404,616 คน คิดเป็น 6.32 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

โดยเกณฑ์ตัดสินบุคคลนั้นเข้าข่ายจนหรือไม่จนในปี 2564 คือรายได้ต่อเดือนต้องได้ต่ำกว่า 2,802 บาทต่อคนต่อเดือน และเมื่อย้อนไปปี 2555 จำนวนคนจนอยู่ที่ 8,441,462 คน

ทั้งยังยกระบบบิ๊กดาต้า และระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบชี้เป้าที่รัฐบาลนำมาใช้ ซึ่งแตกต่างจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจสอบถาม

ตัวอย่างในปี 2560 พบคนจน 1,702,499 คน จากการสำรวจ 35,999,061 คน และวันที่ 25 ม.ค.2565 ลดเหลือ 1,025,782 คน จากการสำรวจ 36,103,806 คน

จากข้อชี้แจงของรัฐบาลยังยืนยันจำนวนคนจนในประเทศลดลงหลายล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือระบบวิเคราะห์ข้อมูลของรัฐบาล

แต่ในสภาพความเป็นจริงนับตั้งแต่วิกฤตโควิด สงคราม ราคาพลังงานโลกพุ่งสูง ยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจที่ยังฝืดเคืองอยู่ในขณะนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวหดหาย โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวชาวจีน ค่าครองชีพสูง รายได้เท่าเดิม แม้จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแต่ก็ไม่สอดคล้องกัน

ส่งผลให้ประชาชนผู้มีรายได้ไม่ถึง 100,000 บาทต่อปีขัดสนอย่างยิ่ง หรือรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ย่อมไม่มีทางจะดำรงชีพอยู่ได้ หากไม่เป็นหนี้สิน กรณีเหล่านี้เข้าข่ายความยากจนขัดสนหรือไม่

ดังนั้น เกณฑ์วัดความจนของรัฐบาล กับเกณฑ์ชี้วัดของประชาชนจึงแตกต่างกันอย่างมาก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ