ประเทศเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่แล้ว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ให้ยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 เพื่อให้มีการเลือกตั้งส.ส.ใหม่
เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศกำหนดซึ่งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่พ.ร.ฎ.ใช้บังคับ และตั้งแต่วันประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
เป็นอันสิ้นสุดลงของสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พร้อมกับอำนาจของรัฐบาลที่ลดเหลือเป็นรักษาการไปจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่
ขณะที่ประชาชนจะได้อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับคืนมาอีกครั้ง ในวันเข้าคูหาลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่างๆ
กกต.มีมติให้วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566 เป็นวันเลือกตั้งส.ส. และวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค.2566 เป็นวันออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง
วันที่ 3-7 เม.ย. เป็นวันรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศกำหนด วันที่ 4-7 เม.ย. เป็นวันรับสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นนายกฯ ที่ศาลาว่าการกทม. ดินแดง
รวมทั้งกำหนดระยะเวลายื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. ถึงวันที่ 13 เม.ย. การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งในระหว่างวันที่ 7-13 พ.ค. และวันที่ 15-23 พ.ค.
ทั้งหมดนี้คือกรอบเวลาและขั้นตอนต่างๆ จนไปถึงวันเลือกตั้งใหญ่
การเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศที่จะมีขึ้น สร้างความหวังอย่างมากต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะจะได้อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับคืนมา เห็นได้จากกระแสการตื่นตัวทางการเมืองที่สูงมาก และต้องการความเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากตลอด 4 ปีกับรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งต่อเนื่องมาจากรัฐบาลทหารเมื่อ 9 ปีก่อน เพราะนายกฯ คนเดียวกัน มีข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ทบทวน ทั้งวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารประเทศ
อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจ โรคระบาด ยาเสพติด ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาที่ดินทำกิน โครงการพัฒนาที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ตลอดจนการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความไม่สงบชายแดนใต้ เหล่านี้เป็นต้น
เชื่อว่าสารพัดปัญหาดังกล่าว จะมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน ที่จะได้อำนาจกลับคืนมาในวันเข้าคูหาลงคะแนน