วันนี้เป็นวันแรกของการประชุมสภา ในญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็น รายบุคคล เพื่อสอบสวนการทำงานของรัฐบาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
มีรัฐมนตรีที่ถูกไม่ไว้วางใจรวมทั้งสิ้น 11 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นต้น
ในส่วนของพล.อ.ประยุทธ์นั้นญัตติระบุว่า ผิดพลาดล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็ระบุความผิดพลาดของการบริหารราชการในหลายประเด็นที่แตกต่างกัน ซึ่งจะต้องติดตามจากการอภิปรายเป็นรายๆ ไป
ที่ผ่านมา แม้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทุกครั้งจะไม่สามารถฝ่าด่านเสียงจำนวนมือฝ่ายรัฐบาลได้ แต่ก็ทำให้ประชาชนได้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลได้ในระดับหนึ่ง
ในส่วนของพล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร และพล.อ.อนุพงษ์นั้น ถูกอภิปรายไว้วางใจมาอย่าง ต่อเนื่อง เพราะร่วมกันก่อการรัฐประหาร ล้มล้างประชาธิปไตย ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบธรรม
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ก็ถือว่าเป็นผู้สนับสนุน เป็นนั่งร้านให้อำนาจจากรัฐประหารนั้นดำรงคงอยู่ถาวรได้มาจนถึงปัจจุบัน
การอภิปรายไม่ไว้วางใจในปลายสมัย สภาผู้แทนราษฎรครั้งสุดท้ายนี้ ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านจะสามารถเปิดแผลฉกรรจ์ ชี้ความผิดพลาดของรัฐมนตรีแต่ละคนได้ขนาดไหน
สําหรับฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นผู้ร่วมกันยื่นญัตตินี้ ถือว่ามีความคึกคัก และอ้างว่ามีความพร้อมที่จะชี้ข้อบกพร่องของรัฐมนตรีได้แน่ และมีบางคนอาจถึงขั้นหลุดจากตำแหน่ง
แต่นั่นก็ย่อมขึ้นอยู่กับการชี้แจง แถลงแก้ข้อ กล่าวหาว่าไม่ได้เป็นไปอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างว่ามีความชัดเจน โดยปราศจากข้อสงสัยหรือไม่
ในระบอบประชาธิปไตยนั้น การถ่วงดุลและตรวจสอบมีความสำคัญและเป็นหลักการที่ควบคู่กันมา รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ
ดังนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จึงมีความสำคัญมาก แม้รัฐมนตรีและรัฐบาลจะยังอยู่ต่อไปได้ด้วยมือในสภา แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะอยู่ที่มือของประชาชน