บทบรรณาธิการ – หาเสียงแก้รธน.

Home » บทบรรณาธิการ – หาเสียงแก้รธน.


บทบรรณาธิการ – หาเสียงแก้รธน.

การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ เป็นประเด็นที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหยิบยกขึ้นมาเคลื่อนไหวเป็นรูปธรรมอีกครั้งในช่วงสภาผู้แทนราษฎรใกล้หมดวาระในเดือนมีนาคม 2566

พรรคไทยสร้างไทยเข้ายื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา แสดงเจตจำนงริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการรณรงค์ประชาชนเข้าชื่อจำนวน 50,000 รายชื่อ ร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เนื้อหาสำคัญคือ การยุติวงจรรัฐประหาร ให้บุคคลที่ก่อการรัฐประหารมีความผิดฐานล้มล้างการปกครอง คือกบฏ และผู้ก่อรัฐประหารต้องได้รับลงโทษสูงสุด ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ความขัดแย้งการเมืองสองขั้วที่ดำเนินมากว่า 16 ปี ยุติลงได้

พรรคเพื่อไทยยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา หรือส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

รวมถึงแก้ไขมาตรา 159 ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่ยังคงตามมาตรา 88 ไว้คือ ผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ซึ่งพรรคนั้นๆ ต้องได้เสียงในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือ 25 เสียงขึ้นไป แต่ที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามาคือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเป็นส.ส.

เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนมีส่วนสนับสนุนนายกฯ ที่ตนเองต้องการ มากกว่าให้ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเห็นชอบ ซึ่งจะสะท้อนเจตจำนงประชาชนมากขึ้น ทำให้การเห็นชอบตัวนายกรัฐมนตรีเป็นประชาธิปไตยและสง่างาม

เป็นธรรมกับทุกพรรค เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์เพื่อประชาชนทุกคน ไม่ใช่ “เพื่อพวกเรา” ตามที่พรรคฝ่ายอำนาจเคยพูดไว้

การเดินเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงนี้ถูกมองเป็นการฉวยโอกาสหาเสียง มากกว่าหวังผลสำเร็จจริงจัง เนื่องจากเหลือเวลาเพียง 2 เดือนจะปิดสมัยประชุม จากนั้นอีก 1 เดือนสภาก็หมดวาระ

การขับเคลื่อนแก้ไข หรือให้มีส.ส.ร.ยกร่างใหม่ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนในรัฐสภา โดยเฉพาะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ซึ่งเป็นไปได้ยาก

แต่ถึงจะหาเสียงจริง ก็ไม่แปลก การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจเป็นความชอบธรรมของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่นโยบายผูกขาดของพรรคใด

การแก้ไขให้ทันสมัยประชุมสุดท้ายนี้ เป็นไปได้ หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่ารัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว. แต่หากไม่ผ่านหรือถูกตีตก ประชาชนก็จะได้รู้ ใครคืออุปสรรคขัดขวางการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยเต็มใบ เพื่อไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ