เพียงแค่ข้ามวันก็เป็นหัวข้อ ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ กรณีพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายค้าน ประกาศคิกออฟแคมเปญเลือกตั้ง 2566 ภายใต้แนวคิด “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน”
ในจำนวน 10 นโยบายที่เปิดออกมา ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางคือ นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า หากพรรคชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ผู้นำรัฐบาลได้ยินแล้วถึงกับตั้งคำถามสวนขึ้นมาทันทีว่า “ทำได้จริงหรือ จะเอาเงินมาจากที่ไหน” เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่กล่าวทักท้วง ให้ระวังหายนะทางเศรษฐกิจ อย่าหาเสียงเพราะนึกสนุก
สรุปคือรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่เชื่อว่า ค่าแรงวันละ 600 บาท จะเป็นไปได้
เป็นไปได้หรือไม่ ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ตอนนี้ พรรคการเมืองที่แสดงวิสัยทัศน์ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ในแบบค่อยเป็นค่อยไป อธิบายหัวใจหลักเรื่องนี้ว่า
ถ้าเราปรับเศรษฐกิจให้เติบโตไปพร้อมกันทั้งระบบทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง เหมือนสมัยรัฐบาลก่อนคสช. เคยปรับค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน จากนั้น 10 ปีผ่านไปค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นมากสุดแค่ 54 บาท
หากภาพรวมเศรษฐกิจประเทศดีขึ้น แรงงานมีรายได้มากขึ้นก็จะจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ช่วยผลักดันเศรษฐกิจทั้งระบบ
วันนี้ยังปรับขึ้นเป็น 600 บาทไม่ได้เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจทั้งระบบดีแล้ว สามารถทำได้ ทั้งหมดคือหัวใจหลัก
ย้อนกลับไปช่วงเลือกตั้งปี 2562 มีพรรคการเมืองนำนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 400-425 บาท มาหาเสียงเกทับกันอย่างครึกโครม
ต่อมาพรรคดังกล่าวได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จวบจนปัจจุบันผ่านมากว่า 3 ปี ใกล้จะมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2566 แต่นโยบายหาเสียงในประเด็นค่าแรง 400-425 บาท ยังไม่เป็นจริง
ทั้งยังลบนโยบายนี้ออกจากเพจเฟซบุ๊กพรรค แต่นั่นก็ไม่สามารถกลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ถึงนโยบายหาเสียงเลือกตั้งที่ไม่สามารถทำได้จริงเมื่อเข้ามาบริหารประเทศ
ยังไม่มีใครรู้ชัดว่าค่าแรง 600 บาทใน 4 ปีจะเป็นจริงแค่ไหน แต่ที่ชัดแล้วคือ 4 ปีที่ผ่านมาค่าแรง 400-425 บาท พรรคที่พูด ไม่สามารถทำได้จริง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของประชาชนเมื่อวาระการเลือกตั้งมาถึง