หน้ากากอนามัย สัญลักษณ์การต่อสู้ป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ที่อยู่คู่ใบหน้าคนไทยมา 2 ปีครึ่ง
นอกจากเห็นชอบให้ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์โควิด เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ทุกจังหวัด
ล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด หรือศบค. ยังเห็นชอบผ่อนคลายให้ถอดหน้ากากได้ ภายนอกอาคารหรือที่โล่งแจ้ง โดยเน้นความสมัครใจของแต่ละบุคคล เริ่มดำเนินการได้หลังประกาศราชกิจจานุเบกษา
แต่สำหรับกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรสวมหน้ากากเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น
รวมทั้งผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเช่นเดียวกัน
สําหรับประชาชนทั่วไปหากเป็นภายนอกอาคาร ที่โล่งแจ้ง ถอดหน้ากากได้
แต่ให้สวมใส่เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นโดยไม่สามารถเว้นระยะห่าง มีความแออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก มีการระบายอากาศไม่ดี เช่น ขนส่งสาธารณะ ตลาด สนามกีฬา หรืองานแสดงดนตรี
เมื่ออยู่ในอาคารให้สวมหน้ากาก ถอดได้ถ้าอยู่คนเดียว กรณีมีกิจกรรมที่จำเป็นต้องถอดหน้ากาก เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย บริการบริเวณใบหน้า และศิลปะการแสดง ให้ระมัดระวัง เมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้นควรสวมหน้ากากทันที
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการสำรวจโพลกรมอนามัย เกี่ยวกับมาตรการสวมหน้ากากตลอดเวลาในสถานที่สาธารณะและสถานประกอบการ พบว่า
ประชาชนร้อยละ 93.3 เห็นว่ายังคงต้องสวมหน้ากากต่อไป มีเพียงร้อยละ 6.7 ที่เห็นว่าให้เลิก
จากตัวเลขโพลดังกล่าว สะท้อนว่าประชาชนจำนวนมากยังคงไม่ไว้วางใจโรคโควิด แม้สถานการณ์โดยรวมจะมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตลดลง โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่
ประกอบกับการฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขยืนยันเป้าหมาย 1 กรกฎาคม 2565 เป็นวันเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดโควิด ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
ถึงกระนั้นในความรู้สึกคนส่วนใหญ่ตระหนักว่าโควิดยังอันตราย อาการไม่รุนแรง แต่ติดแล้วต้องกักตัว เสียเวลาประกอบอาชีพหารายได้ นำพาครอบครัวคนใกล้ชิดเข้าสู่ความเสี่ยง
หน้ากากอนามัยจึงยังสำคัญ เป็นต้นทุนการป้องกันตัวจากโควิด หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง ไม่ว่าโควิดจะปรับลดระดับเป็นโรคประจำถิ่นในเร็ววันนี้หรือไม่ก็ตาม