บทบรรณาธิการ – สูญเสียโอกาส

Home » บทบรรณาธิการ – สูญเสียโอกาส



ช่วงวันหยุดยาว 28-31 ก.ค. ต่อเนื่อง 4 วัน ที่ผ่านมา ประชาชนไม่น้อยเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด และประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้การผ่านเข้า-ออกด่านชายแดนคึกคักมากกว่าช่วงปกติ

โดยเฉพาะด่านชายแดนสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย มีกลุ่มคนไทยข้ามไปนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อทดลองนั่งรถไฟความเร็วลาว-จีน ไปเที่ยวนครหลวงพระบาง เมืองมรดกโลก ทางตอนเหนือของประเทศลาว

หลวงพระบางห่างจากเวียงจันทน์ประมาณ 300 ก.ม. เส้นทางถนนอยู่บนภูเขาสูงชัน ใช้เวลาเดินทางครึ่งค่อนวันกว่า แต่ปัจจุบันมีรถไฟความเร็วลาว-จีน ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็ถึงที่หมาย ไปเช้ากลับเย็นได้

ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ขนส่งสินค้า การเดินทางของประชาชนสะดวกสบายมากกว่าแต่เดิม

สําหรับประเทศไทยได้เริ่มคิดวางแผนกำหนดนโยบายโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮสปีดเทรน มาตั้งแต่ปี 2535 แต่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ก็ล่วงมาถึงปี 2554

เมื่อรัฐบาลเลือกตั้งในขณะนั้นยกร่างพ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน จำนวน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง สายเหนือ อีสาน ตะวันออก และใต้

แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะความขัดแย้ง และเกมช่วงชิงอำนาจทางการเมือง โครงการรถไฟความเร็วสูงต้องหยุดชะงักกลางคัน ถูกวินิจฉัย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และด้วยข้ออ้างถึงความ ไม่จำเป็นต่างๆ นานา

ล้วนเป็นข้ออ้างที่ไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลเท่าไหร่ และค้านสายตาประชาชนส่วนใหญ่

รัฐบาลยุคปัจจุบันได้นำโครงการรถไฟความเร็วสูงมาดำเนินการ แต่กว่าจะเสร็จต้องรอถึงปี 2569-70 และเป็นเพียงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 ก.ม.

ถ้าย้อนกลับไปหากโครงการไม่สะดุด รถไฟความเร็วสูงของไทยจะเสร็จพร้อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลต่อการเดินทาง การขนส่ง นำไปสู่การพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ

อีกทั้งการที่โครงการล่าช้า ยังจะส่งผลให้ต้องใช้งบประมาณก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นไปอีกเกือบ เท่าตัว มากกว่า 2 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลเลือกตั้งชุดก่อนประมาณการไว้

แต่นั่นไม่เท่ากับการที่คนไทยต้องสูญเสียโอกาสยาวนานหลายปี

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ