ภาคประชาชนยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณี เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่มประชาชนในช่วงประชุมเอเปคที่ผ่านมา
โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. กลุ่ม ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนออกจากลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งห่างจากสถานที่จัดประชุมเอเปคมากกว่า 10 กิโลเมตร แต่ถูก เจ้าหน้าที่สกัดกั้น
สถานการณ์บานปลายไปสู่ความชุลมุนวุ่นวาย ฝ่ายรัฐตัดสินใจใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม ดังที่ปรากฏภาพไปทั่วผู้ชุมนุมถูกทุบตี ถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา และกระสุนยาง
มีผู้บาดเจ็บหลายราย โดยเฉพาะรายที่ถูกกระสุนยางเข้าเบ้าตาแตก เกิดคำถามไปทั่วเป็นการควบคุมฝูงชนตามหลักสากลหรือไม่
ฝ่ายภาคประชาชนที่ยื่นเรื่องให้ กมธ.สภา ผู้แทนฯ ตรวจสอบ ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ทุบตีเพียงฝ่ายเดียว เป็นการใช้กำลังเข้าทำร้ายจนกระทั่งมีผู้บาดเจ็บสาหัสถึงขั้นสูญเสียดวงตา
นอกจากนี้ยังเห็นว่าการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ สลายการชุมนุมดังกล่าว ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย และยังเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม
จึงเรียกร้องให้กมธ.ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยขอให้เชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมฝูงชนใน วันเกิดเหตุ ผู้บังคับบัญชา รวมไปถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานจัดประชุมเอเปค เข้ามาชี้แจง
กมธ.จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาใน วันที่ 24 พ.ย. พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริง
สถานการณ์บ้านเมืองหลังสิ้นสุดยุครัฐประหาร 2557 มีรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม การแสดงออก มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ท่ามกลางบรรยากาศที่ค่อยๆ เป็นประชาธิปไตย
แต่รัฐบาลยังใช้วิธีจัดการกับประชาชนอย่างแข็งกร้าว ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ควบคุม หรือบังคับใช้กฎหมายเกินกว่าเหตุ จนมีประชาชนบาดเจ็บ และถูกดำเนินคดีจำนวนมาก
ทั้งที่ปัจจุบันยกเลิกพ.ร.บ.ฉุกเฉินไปแล้ว การชุมนุมสาธารณะย่อมเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการจัดประชุมระดับนานาชาติที่เพิ่งผ่านพ้นไป ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีการชุมนุมแสดงถึงการมีส่วนร่วม และเพื่อสะท้อนปัญหาไปถึงผู้นำชาติต่างๆ
แต่รัฐบาลกลับปิดกั้นเสียงสะท้อนต่างๆ ซ้ำยังควบคุมเข้มงวด และตอบโต้อย่างรุนแรง เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่