ในทางการเมือง การประชุมสภาผู้แทนฯ ถือเป็นหน้าที่ส.ส.ทุกคนไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่ความรับผิดชอบในการรักษาองค์ประชุมเป็นของรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน โดยเฉพาะในสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำ
ปรากฏการณ์สภาล่มสองครั้งเมื่อสัปดาห์ก่อน นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ฝ่ายค้านระบุเหตุการณ์สภาล่มเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่ 16 ของสภาชุดปัจจุบันและเป็นครั้งที่ 8 ในสมัยประชุมที่เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565
ยังไม่นับการประชุมอีกหลายครั้งที่ประธานสภาหรือรองประธานสภาซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ชิงตัดไฟแต่ต้นลม สั่งปิดประชุมเมื่อเห็นว่ามีส.ส.อยู่ในห้องประชุมบางตา เกรงว่าหากองค์ประชุมไม่ถึง กึ่งหนึ่ง
อาจเป็นผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ ฝ่ายรัฐบาล
ห ลังเลือกตั้งมีนาคม 2562 รัฐบาล ‘ประยุทธ์ 2’ ผ่านสมัยประชุมสภามาแล้วถึงปัจจุบันเป็นสมัยประชุมครั้งที่ 6 ซึ่งเกิดเหตุการณ์สภาล่มบ่อยสุดคือ 8 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์สภาล่มทั้งหมดรวมกันของสมัยประชุม 5 ครั้งที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าสมัยประชุมสภานี้ที่เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา เป็นการเริ่มต้นขึ้นภายหลังเกิดความขัดแย้งรุนแรงภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนหลักรัฐบาล
กระทั่งล่าสุดส.ส.กลุ่มหนึ่งได้แยกตัวออกไปอยู่พรรคการเมืองใหม่ และไม่ได้แสดงตนเป็นองค์ประชุมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์
จนเป็นส่วนประกอบของเหตุการณ์สภาล่มอันลือลั่นมากที่สุดครั้งหนึ่ง
ทุ กครั้งที่สภาล่ม ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านมักกล่าวโทษกันไปมาว่าอีกฝ่ายคือสาเหตุ แต่สำหรับครั้งล่าสุด พรรคแกนนำฝ่ายค้านได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน ว่าจะไม่ขอร่วมเป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล
ด้วยเหตุว่าต้องการใช้เหตุการณ์สภาล่มที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเครื่องกดดันนายกรัฐมนตรีให้ประกาศยุบสภา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด ยกเว้นพรรคก้าวไกลที่มีจุดยืนแตกต่างออกไป จะไม่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุม
แต่ที่น่าแปลกและอันตรายกว่าคือการที่พรรครัฐบาล รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำ แต่ทั้งพรรคแกนนำ พรรคร่วมหลัก ไปจนถึงพรรคเล็กพรรคน้อย กลับมีผู้ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมวันนั้นกว่า 100 คน
ตรงนี้เองคือ ‘สนิมเนื้อใน’ ที่เป็น ตัวกดดันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกแรง