ปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษจากที่มีแนวโน้มจะคลี่คลาย กลับทวีความรุนแรงอีกระลอกถึงขั้นวิกฤต โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ดังที่ทราบกันทั่วสาเหตุหลักมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ ควันดำท่อไอเสียรถยนต์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานอุตสาหกรรม
โดยค่ามาตรฐานอยู่ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) แต่ขณะนี้หลายพื้นที่ ภาคเหนือเกินมาตรฐานอย่างน่าตกใจ เช่น อ.แม่สาย จ.เชียงราย มากถึง 9-10 เท่า
หรือ จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่นพิษสูงอันดับต้นๆ ของโลก จากเมืองท่องเที่ยวระดับโลก กลายเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่สุดในโลก
ประการสำคัญคือส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุขแนะนำประชาชนเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพ ด้วยการลดระยะเวลา หรืองดออกนอกอาคารโดยไม่จำเป็น หากออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น
งดออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ ควรอยู่ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด หากทำห้องปลอดฝุ่นได้ให้อยู่ในห้องปลอดฝุ่น
ไม่เฉพาะผลกระทบสุขภาพอย่างเดียว ยังลุกลามไปยังเรื่องเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่คงไม่มีใครอยากจะเดินทางไปในจังหวัด หรือภูมิภาคที่เต็มไปด้วยมลพิษ
นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าปัญหาฝุ่นพิษสร้างความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทย ในบางปีมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท
สําหรับการแก้ปัญหานั้น ที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันไม่มีวิสัยทัศน์ นโยบายใหม่ๆ หรือการวางแผนระยะยาวเพื่อจัดการฝุ่นพิษ ยังคงใช้กลไกข้าราชการปกติแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปแต่ละพื้นที่
ทั้งที่ปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ เพราะเป็นภัยสาธารณะ และเป็นภัยระดับภูมิภาค เนื่องจากเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างด้วย รัฐบาลเท่านั้นที่จะเจรจาได้
แต่สถานการณ์ก็ลุกลาม และสายเกินไปแล้ว คงได้แต่รอให้สถานการณ์คลี่คลายไปเอง เนื่องจากรัฐบาลกำลังครบวาระ รอรัฐบาลใหม่หลังการเลือกส.ส. วันที่ 14 พ.ค.
ดังนั้น นโยบายแก้ปัญหาฝุ่นพิษในระยะยาว จึงจำเป็นที่แต่ละพรรคการเมืองควรนำเสนออย่างจริงจังต่อสังคม จะเป็นนโยบายหนึ่งที่มีส่วนต่อการตัดสินใจของประชาชนในวันเข้าคูหาเลือกตั้ง