คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
วิกฤตคนตกงาน
สัญญาณหลายแหล่งบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน การแพร่ระบาดของโอมิครอน เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดอย่างน้อย ถึงไตรมาส 2 ของปี 2565
การต้องหยุดเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศแม้จะแค่ชั่วคราว แต่ก็ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาลดลงเหลือ 3-4 แสนคน จากที่คาดการณ์ไว้ตอนแรก 1 ล้านคน
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวระส่ำ ประชาชนในประเทศก็ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงจากราคาพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภคราคาสูงเป็นประวัติการณ์ จากหมู ลามไปถึงไก่ ไข่ อาหารทะเล ส่งผลให้คนไทยตกอยู่ในวิกฤตสุขภาพอนามัย วิกฤตปัญหาปากท้อง
และกำลังตามมาติดๆ คือปัญหาตกงาน
ข้อมูลสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยระบุถึงตัวเลขว่างงาน ในไตรมาส 3 ปี 2564 ขยายตัวถึง 2.3% สูงสุดรอบ 5 ปี
มีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานรวมกัน 1.77 ล้านคน ตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้น สะท้อนจากเดือนตุลาคม 2564 แรงงานประกันสังคมลดต่ำสุด มีแรงงานหายไปจากระบบถึง 7.4 แสนคน
ขณะที่ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยชี้ว่า สถานการณ์โอมิครอนทำให้เศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วต้องทรุดลงอีกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และอาจลามถึงปี 2566 ซึ่งจะทำให้ปัญหาว่างงานหนักหน่วงยิ่งขึ้น
แม้ตัวเลขทางการอยู่ที่ 8.7 แสนคน แต่ความจริงเกือบ 4 ล้านคนตามข้อมูลของธนาคาร แห่งประเทศไทย
ซึ่งมีแนวโน้มทะลุเกิน 4 ล้านคน ในไม่ช้า
สิ่งที่สังคมต้องการจากผู้นำรัฐบาลคือการรับรู้ถึงสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง ไม่สะเปะสะปะ
การแจกเงินโครงการต่างๆ ไม่ว่าคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ ช้อปดีมีคืน เที่ยวด้วยกัน ควรไปต่อหรือพอได้แล้ว รวมถึงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ซึ่งเป็นปัญหาโต้แย้งกันมาตลอด
ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลควรนำเงินมาพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานซึ่งจะเป็นรายได้มั่นคงให้ประชาชนจะดีกว่า
เพราะยังมีเด็กนักศึกษาจบใหม่อีกราว 4.9 แสนคนในเดือนกุมภาพันธ์ ที่อาจต้องเจอความยากลำบากในการหางานทำ
รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมมาตรการรองรับส่วนนี้ไว้ด้วย