บทบรรณาธิการ – วันครอบครัว

Home » บทบรรณาธิการ – วันครอบครัว


บทบรรณาธิการ – วันครอบครัว

ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ติดต่อกันรวม 3 วัน ได้แก่ วันที่ 13 เมษายน วันสงกรานต์และวันผู้สูงอายุ วันที่ 14 เมษายนเป็นวันครอบครัว

ความเป็นมาของวันดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เสนอให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ต่อเนื่องกับวันสงกรานต์ประเพณีของไทย

เนื่องจากถือเป็นโอกาสดีในการรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บุพการี รดน้ำดำหัว ขอพรผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และเพื่อความอบอุ่น เป็นสุขของครอบครัว ตามที่เคยปฏิบัติกันมา

ต่อมา คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปีเป็น “วันครอบครัว” จนถึงปัจจุบัน

ที่กำหนด “วันครอบครัว” ขึ้นมานั้น เนื่องจากคณะกรรมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้รับทราบผลสรุปจากการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พบว่าปัญหาครอบครัว เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์และความรุนแรงต่างๆ ในสังคมตามมาเป็นลูกโซ่

ทั้งปัญหายาเสพติด อาชญากรรม และปัญหาทำร้ายร่างกาย โดยปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวด้วย เนื่องจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ขัดแย้ง และความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว

นอกจากนี้ วิถีชีวิตคนต่างถิ่นที่ต้องดิ้นรนเข้าเมืองใหญ่เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพและลูกหลานไว้ที่บ้านเกิดห่างไกล ทำให้บางครอบครัวไม่มีเวลาสั่งสอนอบรมลูกหลาน

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุก่อปัญหาให้สังคมได้ทั้งสิ้น การกำหนด “วันครอบครัว” ขึ้น เพื่อให้ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัวมากยิ่งขึ้น

ครอบครัวที่ดี อาจบ่งบอกได้จากบทบาทหน้าที่พื้นฐานของสมาชิกแต่ละคน ที่พึงปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสมและถูกต้อง ได้แก่ การให้ความรัก ความอบอุ่น และความเอื้ออาทรต่อกัน

หันหน้าเข้าหากันและยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือ ดูแล เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดูแลเอาใจใส่และให้เวลากับครอบครัวอย่างเพียงพอ รวมทั้งรู้จักวางแผนการใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือยเกินตัว

นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน ปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวร่วมกัน เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว และใช้ “วันครอบครัว” เป็นพลังสำหรับสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่

สำหรับการสร้างครอบครัวที่ดีนั้น มีหลักสำคัญคือต้องให้อภัยกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อดทน อดกลั้น มีอารมณ์ขันมองโลกในแง่ดี ซึ่งจะทำให้เกิดความอบอุ่นตามมา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ