การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง 2566 ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. เปิดรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง วันที่ 3-7 เมษายน และเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ วันที่ 4-7 เมษายน และพรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ไม่เกินพรรคละ 3 คน ทั้งหมดดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ
ในส่วนของผู้สมัครส.ส.แบบเขตจะได้หมายเลข หรือเบอร์ในการใช้หาเสียงกับประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้งของใครของมัน ส่วนพรรคการเมืองก็จะได้เบอร์ประจำพรรค สำหรับใช้รณรงค์หาเสียงเพื่อนำคะแนนมาคำนวณเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือที่เรียกว่าส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ในภาพรวมเส้นทางการเดินไปสู่วันที่ 14 พฤษภาคม จึงดูเหมือนราบรื่น แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเรื่องให้ต้องลุ้นในวันที่ 7 เมษายนนี้ ว่าจะราบรื่นจริงหรือไม่
7 เมษายน 2566 เป็นวันที่ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. 4 คนยื่นฟ้องว่า
ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากประกาศ กกต. เรื่อง จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวนเขต และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง
เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ สกลนคร และสุโขทัย โดยใช้รูปแบบการแบ่งเขตการเลือกตั้งส.ส.รูปแบบที่ 1 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากเป็นการรวมตำบลหรือแขวงเพื่อกำหนดเป็นเขตเลือกตั้งโดยไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตการเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์ที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 27 กำหนดไว้
ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง กระทบสิทธิของประชาชน สร้างความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง และกระทบต่อจำนวนราษฎรผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
กกต.ยืนยันการแบ่งเขตยึดหลักรัฐธรรมนูญ และพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.อย่างเคร่งครัด
ขณะที่ผู้ฟ้องมองว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่สะท้อนความเป็นจริงของพื้นที่ อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะมีการตัดแบ่งบางพื้นที่ที่ควรเป็นเนื้อเดียวกัน มีความใกล้เคียงทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมออกจากกัน เปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
หรือหากผู้ออกแบบแบ่งเขตทราบว่าพื้นที่ใดมีแนวโน้มจะลงคะแนนให้พรรคใด ก็สามารถลากเส้นตัดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคนั้นได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงการกล่าวหาในการฟ้องต่อศาล
ต้องรอดูผลวันที่ 7 เมษายน คำตัดสินจะออกมาทิศทางใด ถ้าชี้ว่าการแบ่งเขตชอบแล้ว ทุกอย่างก็เดินหน้าต่อ แต่ถ้าออกมาตรงข้าม กกต.ก็ยืนยันว่า ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ก็ต้องจับตาว่าจะมีผลต่อไทม์ไลน์เลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้หรือไม่