จากปัจจัยด้านเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าราคาสูงขึ้น รวมถึงถ่านหินนำเข้า และค่าเงินบาทผันผวน ส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าต้องปรับสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีหน้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ส่งสัญญาณแนวทางปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 3 ทางเลือก งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จากปัจจุบันเรียกเก็บอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย ปรับเป็น 5.37-6.03 บาทต่อหน่วย
ค่าไฟที่เตรียมปรับตัวสูงขึ้นอีก 0.65 สตางค์ สูงสุด 1.31 บาทต่อหน่วย ย่อมส่งผลกระทบถึงต้นทุนของผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และประชาชนผู้บริโภคที่จะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นข่าวไม่ค่อยดีนักสำหรับปีใหม่ที่ใกล้มาถึง
ค่าไฟถือเป็นต้นทุนหลักภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับการผลิต ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ห้างร้านขนาดใหญ่
หากปรับขึ้นค่าไฟตามแนวทางของ กกพ.จะเป็นการซ้ำเติมภาคธุรกิจเนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2566 ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงาน ขณะที่ค่าน้ำมัน วัตถุดิบต่างๆ ยังทรงตัวอยู่ระดับสูง
เมื่อเป็นเช่นนี้อาจเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการรายย่อย รายใหญ่ มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการให้สอดรับต้นทุนค่าไฟที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ ไปจบลงที่ประชาชนผู้บริโภคในที่สุด
นอกจากต้องจ่ายค่าไฟในครัวเรือนเพิ่ม ยังต้องจ่ายค่าสินค้า ค่าบริการต่างๆ แพงขึ้นด้วย
การลดภาระผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทางหนึ่งคือรัฐบาลออกนโยบายตรึงค่าไฟ แต่ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า ต้องใช้งบอุดหนุนมหาศาล การมีแผนแก้ปัญหาระยะยาวจึงจำเป็น
ข้อเสนอหนึ่งจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สอท. ต้องการให้แก้ปัญหาขั้นตอนการอนุญาตติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน เนื่องจากเป็นแนวทางลดต้นทุนค่าไฟระยะยาว
แต่พบว่าปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีหน้าที่อนุมัติ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กกพ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีขั้นตอนยุ่งยาก ล่าช้า จึงต้องการให้รัฐบาลปลดล็อกอุปสรรคตรงนี้
ช่วงใกล้เลือกตั้ง ปัญหาค่าไฟจะเป็นแรงกดดันรัฐบาล อาจต้องแก้เฉพาะหน้าด้วยการตรึงราคา แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลก็ไม่อาจละเลยแผนการแก้ปัญหาในระยาวควบคู่กันไปด้วย