บทบรรณาธิการ – รายสัปดาห์ไม่พอ

Home » บทบรรณาธิการ – รายสัปดาห์ไม่พอ



ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว หลายช่วงเป็นวันหยุดยาว ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยว มีการรวมตัวจำนวนมาก รวมถึงชาวต่างชาติที่เดินทางมาไทยหลังเปิดประเทศ เป็นสาเหตุสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย สัปดาห์ที่ 47 หรือสัปดาห์ที่สี่ของเดือนพฤศจิกายน ระหว่างวันที่ 20-26 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาล 4,914 คน เฉลี่ยวันละ 702 คน ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 74 คน เฉลี่ยวันละ 10 คน

ตัวเลขดังกล่าวเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ จะพบว่าสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่ยังไม่รวมตรวจ ATK ผลเป็นบวกที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน

ย้อนกลับไปดูข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 รายสัปดาห์ เฉพาะเดือนพฤศจิกายน พบว่า สัปดาห์แรก วันที่ 30 กันยายน-5 พฤศจิกายน พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,759 ราย เฉลี่ยวันละ 394 ราย ผู้เสียชีวิต 40 ราย เฉลี่ยวันละ 5 ราย

สัปดาห์ที่สอง วันที่ 6-12 พฤศจิกายน พบผู้ป่วยรายใหม่ 3,166 ราย เฉลี่ยวันละ 452 ราย ผู้เสียชีวิต 42 ราย เฉลี่ยวันละ 6 ราย/วัน สัปดาห์ที่สาม วันที่ 13-19 พฤศจิกายน พบผู้ป่วยรายใหม่ 3,957 ราย เฉลี่ยวันละ 565 ราย ผู้เสียชีวิต 69 คน เฉลี่ยวันละ 9 ราย

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับรายงานสถานการณ์สัปดาห์ที่ 4 กับสัปดาห์แรก จะพบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 70 และร้อยละ 100 ในส่วนของผู้เสียชีวิตรายใหม่

โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะเดือนธันวาคม มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายครั้ง ก่อนเข้าสู่เทศกาลต้อนรับปีใหม่

กระทรวงสาธารณสุขระบุถึงการแพร่ระบาดของโควิค-19 ช่วงนี้ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามคาดการณ์ การแพร่ระบาดมีลักษณะเป็นสมอลล์ เวฟ (Small Wave) หรือการระบาดระลอกเล็ก ตามวงรอบ

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคปรับรูปแบบการรายงานสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สอดคล้องหลังโควิด-19 ที่ลดระดับลงมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่อีกด้านหนึ่ง การปรับระบบรายงานก็ทำให้ประชาชนขาดหาย ไม่ได้รับข่าวสารแจ้งเตือนต่อเนื่อง แม้อาการโรคจะไม่รุนแรง แต่กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางยังมีอยู่ไม่น้อย

การป้องกันระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน หรือท่องเที่ยวเดินทาง การใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่างช่วยลดความเสี่ยงได้มาก แต่ความถี่ของข่าวสารแจ้งเตือนจากหน่วยงานรัฐก็จำเป็น ประชาชนจะได้รับรู้สถานการณ์และรับมือทันท่วงที

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ