คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
รัฐหวาดระแวง
เครือข่ายเซิร์ฟเวอร์ออนไลน์เปิดเผยสถิติตั้งแต่ปี 2554-2563 ประเทศไทยยื่นคำร้องขอให้ “กูเกิ้ล” เว็บไซต์ให้บริการค้นหาข้อมูลในโลกของอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ของโลก
ให้ลบเนื้อหาออกจากแพลตฟอร์มทั้งสิ้น 1,147 รายการ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 16 ของโลก โดยมีประเทศรัสเซีย ตุรกี อินเดีย สหรัฐ และบราซิล อยู่ใน 5 อันดับแรก
คำร้องจำนวนนี้เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถึง 1,092 รายการ เป็นสัดส่วนสูงที่สุดเหนือทุกประเทศ ตามด้วยเรื่องเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทและอื่นๆ
ถ้าเป็นข้อมูลอื่นที่คลาดเคลื่อนย่อมเป็นสิทธิ์ที่จะให้แก้ไขได้ แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐน่าจะไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่
ที่ผ่านมา ทั้งเว็บไซต์อื่นๆ ทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ก็เคยได้รับการร้องขอจากรัฐบาลไทย ให้จัดการลบหรือระงับการเข้าถึงข้อมูลบางอย่างและบางคนด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ก็จัดตั้งชุดปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารหรือไอโอ เพื่อสอดแนม แทรกแซง ตลอดจนปั่นข้อมูลเพื่อกล่าวหาบุคคล พรรคการเมือง และกลุ่มอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
ช่วงปลายปี 2564 มีนักกิจกรรมทางการเมือง นักวิชาการ ตลอดจนกลุ่มนักศึกษา ได้รับอีเมล์แจ้งเตือนจาก “แอปเปิ้ล” ค่ายโทรศัพท์มือถือไอโฟนแจ้งว่าเป็นเป้าโจมตีจากผู้โจมตีทางไซเบอร์ที่ได้รับการสปอนเซอร์จากภาครัฐ
แสดงถึงรัฐบาลมีความพยายาม อย่างยิ่งยวดที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง
ตั้งแต่มีการยึดอำนาจการปกครองในปี 2557 รัฐบาลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้ออกคำสั่ง ประกาศ และข้อกำหนดต่างๆ ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพประชาชนอย่างมาก
ช่วงแรกของการกระชับอำนาจก็ใช้มาตรา 44 ดำเนินการกับบุคล กลุ่มบุคคล รวมถึงประชาชน มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี และถูกเรียกไปรายงานตัวเป็นจำนวนมาก
แม้ช่วงที่สืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งแล้ว ก็ประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างยาวนาน โดยอ้างว่าเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19
ล่าสุด ก็ต่ออายุการใช้กฎหมายนี้ต่อไปอีก 2 เดือนด้วยเหตุผลเดิมๆ แต่เป็นที่วิจารณ์กันทั่วว่า จุดประสงค์หลักคือควบคุมประชาชนมากกว่าเหมือนที่ผ่านมานานนับปี