บทบรรณาธิการ – รัฐบาลรักษาการ

Home » บทบรรณาธิการ – รัฐบาลรักษาการ


บทบรรณาธิการ – รัฐบาลรักษาการ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา มีวาระเข้าสู่การพิจารณาและพิจารณาไปจำนวนมากรวมกว่า 100 วาระ

ใช้เวลาประชุมยาวนาน 7 ชั่วโมง อนุมัติโครงการที่ต้องใช้เงินงบประมาณ การลดภาษี รวมทั้งสินเชื่อและการชดเชยงบประมาณให้กับสถาบันการเงิน รวมเป็นเงินมหาศาลกว่า 1.7 แสนล้านบาท

สื่อมวลชนเรียกการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นการประชุม ครม.นัดทิ้งทวน หลังมีข่าวยืนยัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมประกาศยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ก่อนสภาผู้แทนราษฎรจะครบอายุตามวาระวันที่ 23 มีนาคม

ซึ่งผลจากการยุบสภาทำให้รัฐบาลปัจจุบันที่มีอำนาจเต็มต้องลดบทบาทเป็นรัฐบาลรักษาการ ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่

รัฐธรรมนูญมาตรา 169 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรี ที่พ้นจากตำแหน่งในกรณียุบสภา และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ข้อ ดังนี้

ห้ามอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ยกเว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ห้ามแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงานหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือให้พ้นจากหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เช่นเดียวกับห้ามอนุมัติใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

และห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่ทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต.กำหนด

เหล่านี้คือข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ที่รัฐบาลรักษาการต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

นอกเหนือจากนี้ยังมีข้อห้ามประชุม ครม.สัญจร ห้ามแจกเงินให้ประชาชน ห้ามนำเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติงานสร้างความได้เปรียบทางการเมือง

รัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งโดยไม่ต้องใช้คำว่ารักษาการ เซ็นเอกสารได้ตามปกติ ข้าราชการเมืองก็ยังรักษาการตามปกติ แต่หากจะลงพื้นที่หาเสียงต้องทำหลังเวลาราชการ หรือลาราชการ อย่างไรก็ตาม หลังยุบสภา กกต.จะออกระเบียบอีกครั้งว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้

ล่าสุด กรณีอดีต กกต. ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน นำเรื่องเข้าร้องต่อ กกต.ให้พิจารณาเอาผิดพรรคการเมืองตั้งใหม่ กรณีใช้ทรัพยากรรัฐเอื้อประโยชน์ให้พรรค ในการลงพื้นที่ตรวจราชการโดยแฝงการหาเสียง มีโทษถึงยุบพรรค

จึงเป็นสัญญาณเตือนไปยังพรรคฝ่ายอำนาจ ไม่ให้ย่ามใจ แม้ข้อกฎหมายอาจไม่สามารถเอาผิดได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่สุดท้ายจะถูกประชาชนตัดสินโทษผ่านคูหาเลือกตั้งอยู่ดี

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ