บทบรรณาธิการ – ยุติการอุ้มหาย

Home » บทบรรณาธิการ – ยุติการอุ้มหาย



ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก.ยื้อ พ.ร.บ.อุ้มหาย เนื่องจากตราขึ้นเพื่อขยายเวลาการมีผลใช้บังคับพ.ร.บ.อุ้มหายฯ จำนวน 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 22, 23, 24 และ 25

จากเดิมที่ให้ใช้บังคับวันที่ 22 ก.พ.2566 ให้เลื่อนเป็น 1 ต.ค.2566 อ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว

โดยศาลชี้ว่า ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้ไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้นคือวันที่ 22 ก.พ.2566 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสาม

การตรากฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ เห็นความจำเป็นในการกำหนดวันบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือวันที่ 22 ก.พ. 2566 และกำหนดให้มีเวลา 120 วันหรือ 4 เดือนในการเตรียมพร้อมบังคับใช้ตามกฎหมายฉบับนี้

แต่คณะรัฐมนตรีกลับอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ออก พ.ร.ก.ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2566 เลื่อนวันบังคับใช้ 4 มาตรา เกี่ยวกับการบันทึกภาพเสียงระหว่างควบคุมตัว ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.2566

ทำให้หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22, 23, 24, และ 25 จะไม่มีบทลงโทษ จึงเท่ากับยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบในการควบคุมตัวประชาชน อุ้มหาย หรือซ้อมทรมาน อย่างที่เคยกระทำต่อไป

พ.ร.ก.ดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังขัดต่อเจตนารมณ์กฎหมายอย่างชัดแจ้ง

การบังคับบุคคลสูญหาย หรือการอุ้มหาย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐจับกุม คุมขัง ลักพา ลิดรอนเสรีภาพของบุคคล เหยื่อมักถูกทรมานและส่วนใหญ่ไม่ได้รับการปล่อยตัว ถูกปกปิดชะตากรรม ทำให้สังคมและครอบครัวไม่สามารถช่วยเหลือได้

ในไทยคดีอุ้มหาย เช่น คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชน คดีบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย คดีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ เป็นต้น

การที่ศาลวินิจฉัยให้พ.ร.บ.อุ้มหายมีผลบังคับใช้ทุกมาตรา เป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน คืนความยุติธรรมให้ครอบครัวเหยื่อผู้ถูกบังคับสูญหาย ยังเป็นการป้องกัน ยุติการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับกฎหมายทุกมาตรา จะถูกนำมาบังคับใช้อย่างจริงจังหรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ