คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ยากจน-ว่างงาน
ภาพรวมสถานการณ์ภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2564 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยแพร่ต้นสัปดาห์นี้ เป็นบทสรุปที่น่าวิตกอีกครั้ง
เพราะทั้งความเหลื่อมล้ำและความยากจนขยับเพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มไม่มาก แต่หมายถึงความเดือดร้อนของประชาชนคนที่มีโอกาสน้อยกว่า แต่มีจำนวนมากในสังคม
สภาพัฒน์ระบุว่าหากไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาคนยากจนในปี 2563 คนจนจะมีจำนวนทั้งสิ้น 11.02 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.9 ของประชากรทั้งประเทศ
เป็นจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 6 ล้านคน แม้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแล้วบางส่วน
ด้านตัวเลขผู้ว่างงานในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.25 หรือราว 870,000 คน ถือว่าเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ปี 2550-2551
สาเหตุมาจากการระบาดของโควิด-19 และมีมาตรการควบคุมการระบาดที่ชะลอการสร้างงานทั้งงานเดิมและงานใหม่
สภาพัฒน์ชี้ว่า แรงงานที่มีอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 9.74 ส่วนกลุ่มอายุ 20-24 ปี ว่างงานร้อยละ 8.3 คิดเป็น 250,000 คนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่
ตัวเลขดังกล่าวนี้อาจอธิบายถึงเหตุผลที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงในการบริหารจัดการของรัฐ
ทั้งความเหลื่อมล้ำและการเผชิญสภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงมีผลมากกับประชาชนที่ด้อยโอกาส และกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองไม่เห็นอนาคตที่ชัดเจน
นอกจากไม่ชัดเจนแล้วยังบั่นทอนความหวังและความฝันของคนหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยสร้างสรรค์
เมื่อคนกลุ่มนี้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยเห็นว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญของการปรับปรุงกระบวนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและกำหนดทิศทางใหม่ๆ ในการพัฒนาประเทศ
กลับถูกรัฐด้อยค่าและกล่าวหาว่าถูกล้างสมองให้ไม่รักชาติความเป็นไทย หลายคนถูกดำเนินคดีมีโทษหนักและสูญเสียอิสรภาพ
แม้รัฐบาลมีประโยคทองว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมากถูกผลักให้ตกอยู่ก้นเหวพร้อมกับเศรษฐกิจที่ดิ่งลง