จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ระหว่างรอผลพิจารณาวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี
ส่งผลให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 เข้าทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563
การที่พล.อ.ประวิตร จะอยู่โยงรักษาการนายกรัฐมนตรียาวนานเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผลพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาเมื่อใด
ซึ่งมีอยู่สองคำตอบคือ ได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ กล่าวคือพ้นตำแหน่งผู้นำสูงสุดทางการเมืองไปแบบถาวร
การเข้าทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ของพล.อ.ประวิตร นั้น ถึงจะเป็นไปตามมติ ครม. และคำสั่งสำนักนายกฯ แต่ในแง่ความคิดเห็นประชาชน มีทั้งยอมรับและทั้งคัดค้าน โดยมวลชนกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลถึงกับประกาศไม่ต่างจากหนีเสือปะจระเข้ ด้วยเหตุที่เป็นเครือข่ายอำนาจที่ทำรัฐประหารปี 2557
ขณะที่พรรคฝ่ายค้านไม่พอใจแค่การหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แถลงเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ แสดงสปิริตลาออก
เพื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหาและเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยคดีครบวาระ 8 ปี
การลาออกยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางนี้
แม้พล.อ.ประวิตร จะมีอำนาจเต็มเหมือนนายกฯ ตัวจริง ไม่ว่าการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ปรับครม. ไปจนถึงประกาศยุบสภา แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การเมืองยังไม่สดใสราบรื่นนัก
การเรียกร้องพล.อ.ประยุทธ์ ลาออก เป็นการคลี่คลายที่ดี เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภา ส.ส. ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ จากรายชื่อบัญชีแคนดิเดตของพรรคต่างๆ
หรือจะเอาคนนอกบัญชีแคนดิเดตพรรคก็ได้ เป็นไปตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญเปิดไว้ หากมั่นใจว่าจะได้เสียงโหวตหนุนจากสมาชิกมากพอ
เพียงแต่ต้องให้ตรงไปตรงมา โดยรักษาการนายกฯ และรัฐบาลต้องยอมรับว่า กรณีปัญหาการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นจุดอ่อนของกลุ่มอำนาจปัจจุบัน ทั้งนำมาสู่กระแสสังคมที่กดดันอย่างร้อนแรง
ชะตากรรมของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวอย่าง ที่รัฐบาลต้องเรียนรู้ว่ามีกระแสประชาชนต่อต้านอย่างมากมาย
1 เดือนระหว่างรอคำวินิจฉัย ท่ามกลางความอึมครึม รักษาการนายกฯ และรัฐบาลต้องไม่ทำอะไรที่ฝืนกระแสสังคม ต้องคลี่คลายความอึมครึมให้ได้