การเมืองไทยหลังผ่านพ้นเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม สิ่งที่ตามมาต่อจากนี้ที่ต้องติดตาม
นอกจากการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ยังต้องจับตาขั้นตอนกระบวนการประกาศรับรองผลเลือกตั้งภายใน 60 วันของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ว่าจะมีเหตุการณ์พิสดารเหมือนเมื่อปี 62 หรือไม่
ตลอดจนบทบาทสมาชิกวุฒิสภา 250 คนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
เนื่องจากเมื่อรวมเสียงพรรคฝ่ายค้านเดิมที่ถึงจะชนะการเลือกตั้งได้ส.ส.เข้ามาเกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎร 250 เสียง ปิดประตูจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยของฝ่ายรัฐบาลเดิม
แต่จำนวนเสียงยังรวมกันไม่ได้เกิน 376 เสียงของที่ประชุมร่วมรัฐสภา นั่นทำให้การโหวตเลือกนายกฯ ยังต้องเฝ้าระวัง
จากตัวเลขผลเลือกตั้งส.ส.เขตและบัญชีรายชื่ออย่างไม่เป็นทางการ
พรรคฝ่ายเสรีนิยมหรือพรรคฝ่ายค้านเดิมประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 151 พรรคเพื่อไทย 141 พรรคประชาชาติ 9 พรรคไทยสร้างไทย 6 พรรคเสรีรวมไทย 1 และพรรคเป็นธรรมอีก 1 รวม 310 เสียง
พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมหรือพรรครัฐบาลเดิม นำโดย พรรคภูมิใจไทย 70 พรรคพลังประชารัฐ 40 พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 พรรคประชาธิปัตย์ 25 พรรคชาติไทยพัฒนา 10 และพรรคชาติพัฒนากล้า 1 รวม 182 เสียง
จากตัวเลขเบื้องต้นจะเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยของพรรครัฐบาลเดิม แม้จะเป็นเรื่องยากแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันการโหวตเลือกนายกฯ ในซีกพรรคฝ่ายค้านเดิมที่ชนะเลือกตั้ง
หากไม่ดึงพรรคอื่นข้ามขั้วมาเติม ก็ยังต้องการเสียงหนุนจากส.ว.อย่างน้อย 66 เสียง
ส.ว.บางคนเห็นด้วยในหลักการว่า ส.ว.ไม่ควรมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ เพราะไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้นที่ผู้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ได้มีสิทธิ์เลือกเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องร่วมโหวตกับผู้มาจากการแต่งตั้ง อีกทั้งผู้แต่งตั้งยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ
แต่อีกด้านหนึ่งก็มีส.ว.จำนวนไม่น้อยที่ชัดเจนว่า ขอเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าประชาชนเลือกมาอย่างไร จะขอใช้เอกสิทธิ์ โดยอ้างว่าทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ จนอาจทำให้ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้เสียงสนับสนุนไม่ถึง 376
หรือกระทั่งการงดออกเสียงของส.ว. ยังอาจทำให้กระบวนการโหวตนายกฯ ยืดเยื้อออกไปไม่รู้จบ เพื่อถ่วงเวลารอการพลิกผันบางอย่าง
แต่นั่นคือการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ประชาชน นำพาประเทศกลับสู่กับดักหลุมดำทางการเมือง