บทบรรณาธิการ : มหาเถรสมาคม

Home » บทบรรณาธิการ : มหาเถรสมาคม


บทบรรณาธิการ : มหาเถรสมาคม

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

มหาเถรสมาคม

มหาเถรสมาคม เป็นองค์กรสูงสุดของการปกครองคณะสงฆ์ไทย ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561

การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม ตาม พระราชบัญญัตินี้ บัญญัติว่า มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง

นอกจากนี้ยังมีกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร มีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชอัธยาศัย โดยทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้

กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้

มาตรา 15 ตรี กำหนดอำนาจหน้าที่ของ มหาเถรสมาคมไว้ให้ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม โดยการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม

ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

นอกจากนี้ ยังมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม เพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครอง เพื่อรักษาหลัก พระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ด้วย

กรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่ตามพระราชบัญญัติใหม่นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ประกอบด้วย สมเด็จพระราชาคณะมหานิกายและธรรมยุตฝ่ายละ 3 รูป พระราชาคณะเจ้าคณะรอง พระราชาคณะชั้นธรรมและชั้นเทพฝ่ายละ 7 รูป

อย่างไรก็ตาม มาตรา 5 ตรี บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ด้วย

ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ของมหาเถรสมาคม ย่อมต้องสอดคล้องสนองตามพระบรมราชวินิจฉัย และต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติของพระธรรมวินัย

จึงต้องยึดหลักให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ