ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุมัติให้ นำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งไปให้รัฐบาลพิจารณา 60 วัน ก่อนลงมติรับหลักการ ด้วยคะแนน 227 เสียง ไม่เห็นด้วย 157 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง
โดยก่อนลงมติ ฝ่ายรัฐบาลเสนอต่อที่ประชุม ขอให้รัฐบาลรับร่างกฎหมายไปพิจารณา ก่อนที่สภาผู้แทนฯ จะลงมติรับหลักการ
แต่มีเสียงโต้แย้งจากส.ส. โดยเสนอให้ลงมติว่าจะรับหรือไม่รับหลักการทันที ประธานที่ประชุมจึงเจรจาต่อรอง แต่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันขอรับร่างไปพิจารณา โดยอ้างเพื่อให้นำร่างกฎหมายไปให้ผู้ที่ควรรู้ได้พิจารณาก่อน
ท่ามกลางข้อกังขาเป็นการเตะถ่วงหรือไม่ และเมื่อนำกลับเข้าสู่สภาอีกครั้งอาจ ถูกตีตก
สําหรับหลักการและเหตุผลนั้น ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านกับคณะผู้เสนอชี้แจงว่า เนื่องจาก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นกฎหมายที่มีปัญหา
ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนดต่างๆ ที่อาจจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินสมควรแก่เหตุ ได้รับการละเว้นการตรวจสอบถ่วงดุล
ส่งผลให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรี สามารถประกาศและขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไป โดยไม่มีองค์กรอื่นใดคัดค้านได้ และพนักงาน เจ้าหน้าที่ใช้บังคับข้อกำหนดจนส่งผลกระทบ ต่อประชาชนอย่างเกินความจำเป็น
สมควรต้องกำหนดมาตรการตรวจสอบถ่วงดุล ด้วยการตราพ.ร.บ.ดังกล่าว
นับตั้งแต่ปี 2548 เริ่มใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมและแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบ จนเกินเลยไปกระทบและละเมิดต่อชาวบ้านในพื้นที่
หรือเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553 รัฐบาลใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธเข้าควบคุมสถานการณ์ ก่อนบานปลายเป็นเขตกระสุนจริง นำไปสู่การเสียชีวิต 99 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน
จวบจนปัจจุบัน รัฐบาลใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมการชุมนุมประชาชนกลุ่มต่างๆ บังคับใช้ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด ทั้งที่มีพ.ร.บ.โรคติดต่ออยู่แล้ว ส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีมากมาย
คาดหวังว่ารัฐบาลและที่ประชุมสภา จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฉบับใหม่ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพ และความมั่นคงของประชาชนเป็นที่ตั้ง