เครือมติชนและหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จัดวิเคราะห์ผลโพลเลือกตั้ง 2566 ที่ร่วมกันจัดทำรวม 2 ครั้ง มีผู้ตอบคำถามครั้งแรกกว่า 8 หมื่นราย และครั้งที่สองกว่า 7 หมื่นราย
ผลปรากฏว่าบุคคลที่สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี 3 ลำดับแรก คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย
ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อที่จะลงคะแนนให้ ได้แก่ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมกันมีเปอร์เซ็นต์สูงกว่าพรรครัฐบาลเดิมถึง 8 เท่า
ที่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนไปในแนวทางเดียวกัน ได้แก่ วุฒิสมาชิกจะต้องโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองที่ได้จำนวนส.ส.มากที่สุดในสภาเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการส่งสัญญาณตรงต่อวุฒิสภา
นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่าโพลครั้งนี้สอบถามข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ระบุชื่อ พบว่าเพศชายมีสัดส่วนกว่า 60% พนักงานบริษัท จบปริญญาตรีขึ้นไป มีรายได้ 5 หมื่นบาทขึ้นมากที่สุด
พร้อมกันนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่าโพลนี้จะไม่เห็นคำตอบของระบบเขต 400 เขต ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองมีฐานเสียงเดิมอยู่แล้ว จึงเสนอให้แต่ละพรรคกลับไปดูแลฐานพื้นที่ของตนให้ดี
สิ่งสำคัญคือกระตุ้นความรู้สึกของประชาชนมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง มีจิตใจเป็นเจ้าของชาติบ้านเมือง และออกไปเลือกตั้งเพื่อการแสดงเจตจำนง
ตลอด 8 ปีประชาชนสะสมความนึกคิด ผู้มีอำนาจจึงอย่าได้ดูเบา เพราะไม่มีใครครองอำนาจอย่างยาวนาน หากไม่แบ่งปัน ก็จะถูกกำจัดออกไป
นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า วันนี้คนต้องการออกจากรัฐประหารและอยากไปเลือกตั้งสูงมากน่าถึง 75-80% หรือราว 39-42 ล้านคนจากมีสิทธิเลือกตั้ง 52 ล้านคน
คะแนนของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยรวมกันแล้วสูงถึง 80-85% จึงเป็นฉากทัศน์ที่เห็นได้ว่าประชาชนไม่เอาพรรคร่วมรัฐบาลเดิม
ขณะที่นายประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าผลการเลือกตั้งจากโพลมีแนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่าพรรคฝ่ายค้านจะได้เสียงข้างมาก และฝ่ายรัฐบาลตกอยู่ในสถานะที่ลำบาก เพราะคะแนนห่างกันค่อนข้างมาก
โพลมติชนและเดลินิวส์ที่ร่วมกันจัดสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุน กระตุ้นความตื่นตัว รวมถึงส่งเสริมบรรยากาศประชาธิปไตยด้วย