คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ผลผลิตค่ายทหาร
คําชี้แจงจากสมาชิกร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาผักราคาแพงตอนนี้ออกมาคล้ายๆ กันว่า ปัญหานี้จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ และจะค่อยๆ คลี่คลายไปเองตามอุปสงค์-อุปทาน
สาเหตุที่ทุกคนรู้เท่าๆ กันคือมาจากสถานการณ์น้ำท่วมทำลายหรือลดผลผลิตลง บวกกับราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ค่าขนส่งสูงขึ้น
รายละเอียดเพิ่มเติมเข้ามาคือ ราคาปุ๋ยแพงขึ้น เพราะต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีน
รวมถึงแนวคิดที่เป็นสีสัน ว่าด้วยการให้ปลูกผักชีในค่ายทหาร หลังราคาผักสำหรับการตกแต่งเมนูอาหารชนิดนี้พุ่งสูงกิโลกรัมละ 400 บาท
ประเด็นหลังนี้เกิดเป็นกระแสโซเชี่ยลที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐที่ยังไม่ตอบสนองทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
กระแสปลูกผักชีในค่ายทหารครั้งนี้ ทำให้โฆษกรัฐบาลตอบโต้ ว่าอย่าตัดตอนข้อความ บิดเบือนเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่มีเจตนาดีตั้งใจช่วยเหลือประชาชน
เป็นคำสั่งการให้ทุกส่วนราชการ รวมถึงพื้นที่ในเขตทหาร ใช้ทรัพยากรของตนเองที่มีอยู่ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
พร้อมยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของหน่วยทหาร ที่หลายๆ แห่งใช้พื้นที่ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์กันอยู่แล้ว รวมถึงล่าสุด ใช้ทำโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19
อย่างไรก็ตาม การบริหารงานแก้ปัญหาของรัฐบาลในแต่ละครั้งแต่ละเรื่อง เป็นที่คาดหวังจากประชาชน ว่าจะเป็นแผนงาน เป็นการระดมทีมและมีระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางจะเป็นอย่างไร
การปลูกผักชี หรือพืชผักสวนครัวอื่นๆ ในค่ายทหารอาจเป็นส่วนช่วยเสริม เป็นสวัสดิการของครอบครัวทหารและคนรอบชุมชนได้
แต่แกนหลักของการบริหารจัดการภาคการเกษตรต้องนำเสนอมาจากรัฐบาล พรรคการเมือง ตัวแทนเกษตรกร และภาคประชาสังคมต่างๆ
เพราะวงจรของอุปสงค์-อุปทาน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การแข่งขันในตลาดโลก จะเกิดผลกระทบต่อเกษตรกรอยู่เสมอ
กองทัพหรือค่ายทหารทำหน้าที่เพียงส่วนเสริมได้ แต่จะเข้ามาแทรกแซงเรื่องที่มิใช่หน้าที่หลักไม่ได้
การรัฐประหารเป็นตัวอย่างใหญ่ที่แสดงผลลัพธ์แล้วว่า ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างแท้จริงได้เลย